อ่านนิทานให้เด็กฟัง เพิ่มพลัง EF


กิจกรรมนี้ง่ายมาก สำหรับคุณพ่อคุณแม่ แค่ให้ลูกนั่งตัก อ่านหนังสือให้ลูกฟัง พูดคุย ร้องเพลง และเล่นไปกับคำหรือเรื่องราวในหนังสือเท่านั้นเอง   ส่วนคุณครู  ควรต้องอ่านนิทานให้เด็กฟังทุกวัน  อ่านชัดถ้อยชัดคำ  ใส่หัวใจและจิตวิญญาณลงไปในถ้อยคำที่อ่าน  ก็จะช่วยสะกดเด็กในห้องที่มีหลายคนเอาไว้ได้     

 

ในขณะที่มีผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้ฟังนั้น  สมองทุกส่วนของเด็กจะได้รับการพัฒนา   ที่สำคัญที่สุด  นิสัยรักการอ่าน  ต้องเกิดก่อนที่เด็กจะอ่านออก   เพราะเมื่อเด็กอยากอ่านจะอ่านหนังสือได้เองโดยไม่ต้องพยายามมากนัก   การอ่านนิทานให้เด็กฟังในช่วงแรกเกิดถึง 3 ปีเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้างทักษะการอ่านเริ่มแรก ( Pre-reading Skills) ซึ่งจะเป็นพื้นฐานกระบวนการอ่านในระยะถัดไป 

 

แม้ในช่วงแรกเด็กจะยังไม่เข้าใจเนื้อหาที่พ่อแม่อ่านให้ฟัง  แต่เด็กจะหยุดนิ่งฟังเสียง หันมองภาพในหนังสือ เริ่มแยกแยะเสียงต่างๆที่ได้ยิน  ได้เห็นแม่ชี้นิ้วไปตามตัวหนังสือและภาพ  เห็นการเปลี่ยนหน้ากระดาษ  เกิดการเรียนรู้ว่าต้องเปิดหนังสือจากซ้ายไปขวา  ต้องอ่านจากบนลงล่าง  

 

เมื่อหนังสือมาพร้อมความรัก  เด็กจะรักหนังสือได้ไม่ยาก   แต่เรื่องอื่นใดก็ไม่สำคัญเท่ากับสายใยผูกพันของแม่กับลูก  และของครูกับเด็ก

 

หลังจากอ่านจบทุกครั้ง  สามารถชวนเด็กคุยเกี่ยวกับเรื่องด้วยการตั้งคำถาม   

  • ในเรื่องนี้มีตัวอะไรบ้าง (ตัวละคร)  
  • เขาอยู่ที่ไหนกัน (ฉาก)  
  • เรื่องเป็นอย่างไร ไล่เรียงลำดับมา (โครงเรื่อง)  
  • เรื่องนี้จะบอกอะไรกับเรา  ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น  ถ้าไม่ทำอย่างนี้จะเป็นอย่างไร (แก่นเรื่อง)  

 

ทั้ง 4 ประเด็นนี้คือประเด็นหลักในการอ่านบันเทิงคดี   ซึ่งสามารถขยายไปสู่การเชื่อมโยงเข้ากับตัวเด็กได้ด้วย  เช่น  ถ้าเป็นหนู  หนูจะทำอย่างนั้นไหม   หนูชอบตัวละครตัวไหน  เราไปลองทำแบบในหนังสือกันไหม  หนูเคยเห็นสิ่งที่อยู่ในหนังสือไหม  เราจะไปดูของจริงได้ที่ไหน   หากเด็กได้รับการฝึกฝนเช่นนี้มาตั้งแต่เล็กๆ  เด็กจะมีฐานของการ “อ่านเป็น”  ที่จะควบคู่มากับการ “อ่านได้”

 

ทักษะ EF หรือ Executive Functions ทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง เป็นกระบวนการทางความคิดระดับสูงของสมองส่วนหน้าที่มีความเกี่ยวข้องกับความคิด ความรู้สึก และการกระทำ เป็นทักษะที่มีอิทธิพลต่อความสำเร็จในชีวิต

 

กิจกรรมการอ่าน  ช่วยพัฒนาทักษะ EF ของเด็กได้อย่างไร

ด้านการจำเพื่อใช้งาน   -  เด็กจะเชื่อมโยงสิ่งที่มีอยู่จริงในชีวิตเข้ากับคำและภาพในหนังสือ  คำที่ได้ยิน ภาพที่เห็น จะกลายเป็นฐานข้อมูลให้นำไปใช้

ด้านการยั้งคิดไตร่ตรอง –  การพูดคุย การตั้งคำถามหลังจากที่อ่านนิทานด้วยกันจะช่วยสร้างทักษะนี้ได้ดีมาก

ด้านการยืดหยุ่นความคิด – การกระทำบางอย่างแก้ไขได้โดยการอ่านนิทานให้ลูกฟัง  เพราะเด็กได้เห็นตัวแบบที่ดีจากนิทาน  รวมทั้งได้มุมมองใหม่ๆ

ด้านการจดจ่อใส่ใจ – อ่านนิทานทุกครั้ง ฝึกการจดจ่อใส่ใจ ดูและฟังจนจบ

ด้านการควบคุมอารมณ์ –  เด็กหลายคนสงบอารมณ์ไม่ดีลงได้เมื่อผู้ใหญ่อ่านนิทานให้ฟัง  และ ตัวละครในนิทานจะเป็นตัวแบบในการแสดงอารมณ์ที่เหมาะสมได้

ด้านการติดตามประเมินตนเอง – การเชื่อมโยงเรื่องราวในนิทานเข้ากับประสบการณ์จริงหรือชีวิตของเด็กจะช่วยเด็กสร้างทักษะการประเมินตนเองได้

ด้านการริเริ่มลงมือทำ –  ฟังนิทานจบ เปิดหนังสือดูเองจบ คือ จุดเริ่มต้นของการลงมือทำสำเร็จ  หากได้ทำกิจกรรมแบบที่ปรากฏในนิทาน  ยิ่งช่วยพัฒนาทักษะนี้ได้มากขึ้น

ด้านการวางแผนจัดระบบ –  ฟังนิทานจบแล้วได้ฝึกเรียงลำดับตามโครงเรื่อง  รู้ว่าอะไรเกิดก่อนเกิดหลัง  ทักษะการวางแผนจัดระบบเริ่มต้นขึ้นแล้ว

ด้านการมุ่งเป้าหมาย – ฟังนิทานจบ เปิดหนังสือดูเองจบ คือ จุดเริ่มต้นของการทำตามเป้าหมายได้สำเร็จ

   

Visitors: 26,198