การละเล่นไทย ภูมิปัญญาการเลี้ยงดูเด็กที่ไม่เคยล้าสมัย

 

หลายปีมาแล้วที่บ้านรักเนอร์สเซอรี่สคูล  จัดให้มีกิจกรรมการละเล่นไทยทุกวันศุกร์  เด็กๆจะแต่งชุดไทย เล่นการละเล่นไทยที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปไม่ซ้ำกันในแต่ละสัปดาห์  แม้เด็กๆจะเติบโตในศตวรรษที่ 21 แต่การละเล่นไทยก็ยังครองใจเด็กได้  เมื่อใดที่คุณครูให้เด็กๆเสนอว่าอยากจะเล่นอะไร  การละเล่นไทยจะติดอันดับแทบจะทุกครั้ง   หลายคนกลับไปบ้าน  ร้องขอให้คุณพ่อคุณแม่เล่นรีรีข้าวสารบ้าง  มอญซ่อนผ้าบ้าง  หากไม่ได้เล่นก็จะไม่นอน  จนการละเล่นไทยกลายเป็นกิจกรรมก่อนนอนของครอบครัว  คุณพ่อคุณแม่หลายคนจึงมักจะแซวว่า "ลูกเกิดในภพใดกันหนอ"  เพราะการละเล่นบ้างอย่างที่ลูกร้องขอ  เช่น  กาฟักไข่  โพงพาง  อ้ายเข้อ้ายโขง  เป็นการละเล่นที่ผู้ใหญ่เกือบจะลืมวิธีเล่นไปแล้ว  

นี่จึงเป็นเครื่องยืนยันประการหนึ่งว่า  หากเด็กไทยยังมีโอกาสได้รู้จักการละเล่นไทย  จะไม่มีวันรู้สึกว่า "ล้าสมัย" 

ภูมิปัญญาไทยที่ถูกส่งต่อมาจากบรรพบุรุษมีคุณค่า  การละเล่นไทยส่วนใหญ่สามารถพัฒนาเด็กได้ครบทุกด้าน  ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญา   เพราะการละเล่นไทยส่วนใหญ่มีข้อตกลง กติกาในการเล่น จึงเป็นพื้นฐานของการเชื่อฟังกฎและการทำกติกาด้วย ซึ่งเด็กจะเรียนรู้ได้ว่าหากจะได้มีส่วนร่วมในความสนุก จำเป็นที่เด็กต้องทำตามกฎกติกาของการเล่นนั้น

การละเล่นไทยมีรูปแบบที่สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัย  โดยเฉพาะในช่วงปลายๆของอนุบาล  เด็กจะเริ่มโตขึ้นและพร้อมก้าวสู่การเป็นพี่ประถมแล้ว  และการเล่นที่เหมาะกับเด็กในวัยนี้คือ การเล่นเกมที่มีกฎกติกากำหนดเพิ่มขึ้น  เพื่อส่งเสริมการทำตามกฎกติกาการอยู่ร่วมกันในสังคมผ่านการเล่นสนุก  เด็กจะเรียนรู้บทบาทของตน  การยอมรับข้อตกลง  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตตามระเบียบสังคมที่จะนำสู่การปฏิบัติตามกฏหมายในวัยผู้ใหญ่  ที่สำคัญ  ในระหว่างการเล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆนั้น   ควรต้องสร้างคำถามให้เด็กคิดอยู่เสมอ  เช่น  ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ควรจะทำอย่างไร เพื่อให้เด็กฝึกการคิด การแก้ปัญหา การวางแผน   

แม้การละเล่นไทยจะมีการผลัดกันแพ้ ผลัดกันชนะอยู่บ้าง  แต่ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อการเป็นที่หนึ่ง  ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าในการละเล่นนั้น  เราสามารถเอื้อเฟื้อหรือช่วยเหลือผู้อื่นได้  เช่น  การละเล่นมอญซ่อนผ้า  รู้ว่าข้างหลังเพื่อนมีคนเอาผ้ามาวางแล้วก็รู้จักบอกเพื่อน  รู้ว่าเพื่อนกังวลที่ถูกวิ่งไล่ก็รู้จักวิ่งให้ช้าลง  ไม่ไล่ตีจนเพื่อนหกล้มหรือร้องไห้  หรือ  การละเล่นรีรีข้าวสาร  เราจะเห็นได้เลยว่า  แม้จะถูกกักตัว แต่กติกาของการเล่นยังเอื้อให้ได้มีส่วนร่วมต่อโดยการไปเกาะหลังเพื่อน   แม้จะพลาดแต่ไม่ได้แพ้   นัยยะทำนองนี้ซ่อนอยู่ในการละเล่นไทยอย่างแยบยล

 

 

นอกจากนี้  การละเล่นไทยยังส่งเสริมทักษะสมอง EF ได้เกือบทุกด้านอีกด้วย  ลองดูตัวอย่าง  การละเล่นรีรีข้าวสาร 

ด้านการจำเพื่อใช้งาน - ฝึกจำเนื้อเพลงเพื่อใช้ร้อง ต้องจำให้ได้ว่าร้องถึงตรงไหนจึงจะกักตัวเพื่อนไว้ รวมไปถึงการจำกติกาในการเล่นด้วย

ด้านยั้งคิดไตร่ตรอง -  ฝึกการควบคุมตนเอง เช่น กำลังจะถูกกักตัวอยู่แล้วก็ยอม ไม่ผลักเพื่อนให้เข้าไปแทนเพราะรู้ว่าการกระทำอย่างนี้ไม่น่ารัก

ด้านการยืดหยุ่นความคิด - ฝึกการปรับตัวและยืดหยุ่นในการเล่น เช่น แม้จะคาดว่าไม่ถูกกักตัวรอบนี้แต่เผอิญถูกกักตัวไว้ ก็สามารถทำความเข้าใจได้ หรือ อยากอยู่คนหน้าสุดแต่เผอิญเพื่อนอีกคนมาก่อนก็ยอมรับได้

ด้านการจดจ่อใส่ใจ  - ฝึกการจดจ่ออยู่กับการเล่นโดยตลอด ฟังเพลง สังเกต เดินตามแถว

ด้านการควบคุมอารมณ์  - ฝึกการควบคุมอารมณ์จากการเล่นด้วยกัน ยอมรับกติกา เมื่อไม่ถูกใจก็ทำใจยอมรับได้บ้าง เช่น เพื่อนเดินเร็วไปก็ไม่โมโหจนกระทั่งทำร้ายเพื่อน เพื่อนกักตัวไว้ก็ไม่โวยวายที่ถูกกักตัว

ด้านการประเมินตนเอง  - ฝึกการตรวจสอบตนเองอยู่ตลอดเวลาระหว่างเล่นว่าเพลงจะจบหรือยัง จะถึงตัวเองไหม เดินเร็วหรือช้าไปไหม เราตัวสูงกว่าซุ้มทำให้ลอดไม่ได้ก็รู้จักก้ม เกาะเพื่อนไม่แน่นทำให้แถวขาด รอบต่อไปก็เกาะแน่นขึ้น

ด้านการริเริ่มลงมือทำ -  ฝึกการเข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับผู้อื่นได้จนจบ 

ด้านการวางแผนจัดระบบ - ฝึกการคิดวางแผนทั้งผู้ที่ลอดและผู้ที่เป็นซุ้ม เด็กที่เป็นซุ้มต้องวางแผนร่วมกันว่าต่อไปจะกักตัวเพื่อนคนใด จะทำอย่างไรให้กักตัวไว้ได้ ส่วนเด็กที่เดินลอดก็ต้องคิดล่วงหน้าไปแล้วว่า เมื่อใกล้จะจบเพลงต้องเดินลอดไปอย่างไรให้ไม่โดนกักตัว

ด้านการมุ่งเป้าหมาย  - ฝึกการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จ เช่น แม้จะถูกกักตัวตั้งแต่คนแรก หรือ กักเพื่อนไม่ได้เลยก็ไม่ล้มเลิกการเล่นกลางคัน เล่นจนจบ

แม้อยู่ในโลกศตวรรษที่ 21 ภูมิปัญญาไทยก็ยังไม่ล้าสมัย   


 

Visitors: 22,045