เล่นบล็อก


การเล่นบล็อกไม้ เป็นการเล่นสร้าง  (Constructive Play)  ซึ่งเป็นการเล่นที่เกิดขึ้นตามพัฒนาการของเด็ก เด็กมักจะพยายามสร้าง รื้อ ต่อ บางสิ่งบางอย่างที่อยู่ใกล้ตัว อาจจะเป็นบล็อกไม้  กล่องนม  กล่องกระดาษ ตัวต่อพลาสติก ไม้ไอศกรีม หลอด  แก้วพลาสติก ผ้า 

การเล่นสร้างเป็นการเล่นที่แสดงให้เห็นว่าเด็กเริ่มมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมโดยนำเอาประสบการณ์ต่างๆมารวมไว้ด้วยกัน  เป็นการเล่นที่สะท้อนอารมณ์ ความคิดและเหตุผลของเด็ก  สิ่งที่เด็กสร้างอาจออกมาในรูปแบบของสัญลักษณ์ (Symbolic Representation) และรูปแบบของการสร้างสรรค์ (Creative Imagination)  บางครั้งผู้ใหญ่ก็ไม่สามารถดูออกว่าสิ่งที่เด็กสร้างนั้นคืออะไร และยังแปรเปลี่ยนสิ่งที่สร้างไปเป็นสิ่งอื่นได้ในเวลารวดเร็ว  ต่อเข้าแล้วดึงออก ต่อใหม่แล้วเรียกชื่อสิ่งใหม่นั้นในเวลาไม่กี่นาที เช่น ต่อสูงขึ้นมาแล้วบอกว่าบ้าน อีกไม่นานรื้อออก  เติมชิ้นส่วนไปสองชิ้นแล้วก็บอกว่าเครื่องบิน  เด็กมักสร้างไปด้วยและรื้อไปด้วย "การเล่นรื้อจึงคู่กับการเล่นสร้าง"  

ในระยะแรกเด็กอาจจะนำของมาปาบ้าง  เพื่อทดสอบพลังของตนเองและสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผล  เช่น ปาแล้วมีเสียงดัง  ปาครั้งนี้ใกล้ ปาครั้งนี้ไกล  หากเด็กนำของเล่นแข็ง ๆ เช่น บล็อกไม้มาปาอาจเกิดอันตรายต่อผู้อื่นหรือทำให้ของเสียหายได้  ในช่วงแรกผู้ใหญ่จึงต้องแนะนำว่าของสิ่งใดมีไว้ปา แต่ของบางอย่าง ปาไม่ได้ โยนไม่ได้  รถมีไว้ไถ ลูกบอลมีไว้กลิ้ง หนังสือมีไว้อ่าน บล็อกไม้มีเอาไว้ต่อ  ความชัดเจนจริงจังแต่นุ่มนวลและสม่ำเสมอ  จะช่วยให้เด็กเล็ก ๆ เข้าใจได้ในไม่ช้า 

สักประมาณสองสามขวบจึงจะเริ่มเล่นของเล่นร่วมกับผู้อื่น  แต่ก็เป็นการต่างคนต่างสร้างอาจช่วยกัน พูดกัน  แต่ก็ยังไม่ได้เล่นด้วยกันหรือแบ่งงานกันเป็นระบบ จนเมื่ออายุห้าปีไปแล้ว จึงเริ่มเล่นอย่างมีจุดมุ่งหมาย หากจะสร้างผลงานขึ้นมาก็จะเริ่มมีการแบ่งงาน ช่วยกันต่อเติมผลงาน โดยมีการเลียนแบบความเป็นอยู่ของผู้ใหญ่ เช่น สร้างบ้านโดยสมมุติตัวเองเป็นพ่อแม่ช่วยกันสร้างบ้าน ในการเล่นของวัยนี้จะเริ่มมีระบบมากขึ้น ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่ามีเด็กบางคนที่จะได้รับบทบาทการเป็นผู้นำกลุ่ม และความเป็นผู้นำที่ปรากฏขณะเล่นนี้เองจะเป็นฐานสำคัญของการพัฒนาภาวะผู้นำในอนาคต  

 

การปรับเปลี่ยนของที่นำมาใช้เล่นสร้างไปเรื่อย ๆ เป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับเด็กมาก ช่วยกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์  การแก้ปัญหา  การทดลองต่าง ๆ  ช่วยให้เด็กค้นพบความรู้และกระบวนการต่าง ๆ ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านภาษา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์

การเล่นของเด็กสองขวบมักจะนำเอาบล็อกมากองสุมรวมกัน ดึง ลาก ไปมา ในระหว่างที่ทำแบบนั้น เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องน้ำหนัก ความสมดุล ความมั่นคง แรงโน้มถ่วงของโลก เราจึงมักเห็นเด็กต่อบล็อกขึ้นสูงๆแล้วปัดให้ล้มลงมาบ่อยครั้ง  ยิ่งเกิดเสียงดังยิ่งสนุก เพราะนั่นคือการเรียนรู้ว่าบล็อกที่วางไว้ไม่มั่นคงจะหล่นลงมาได้ แม้มั่นคงแล้วหากมีการทำให้ล้มก็จะหล่นเช่นกัน

การเล่นของเด็กสามขวบ เริ่มเรียนรู้การต่อและเรียง เด็กจะสามารถต่อบล็อกขึ้นไปเป็นชั้นๆ และสามารถเรียงต่อในแนวนอนออกไปได้ด้วย มักเรียงในแบบเดียวกันซ้ำ ๆ ในขณะที่เล่นแบบนี้เด็กเรียนรู้เรื่องคณิตศาสตร์ไปด้วยแล้ว เด็กรู้จักการจัดวางให้เป็นรูปแบบ เริ่มเริ่มสังเกได้ตด้วยตนเองว่าบล็อกสองชิ้นนั้นเมื่อต่อกันแล้วจะประกอบเป็นบล็อกรูปทรงเดียวกันที่ขนาดใหญ่ขึ้น นี่ก็คือเรื่องเศษส่วนในวิชาคณิตศาสตร์นั่นเอง

ประมาณสี่ขวบขึ้นไป เด็กจะเริ่มต่อบล็อกเป็นโครงสร้างง่าย ๆ โดยอาจจะนำบล็อกสองชิ้นมาวางข้าง ๆ กัน และนำชิ้นที่สามมาวางข้างบนเพื่อเชื่อมระหว่างบล็อกสองชิ้นนั้น คล้ายกับซุ้มหรือประตูบ้าน นอกจากเด็ก ๆ จะการเล่นในช่วงนี้เด็กเริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องความสมดุล สมมาตร การคิดวางแแผน การแก้ปัญหาด้วย

 

การเล่นบล็อกช่วยส่งเสริมทักษะสมอง EF หลายด้าน


จำเพื่อใช้งาน   -   เล่นทุกครั้ง เด็กจะนำข้อมูลหรือประสบการณ์เดิมมาใช้เป็นพื้นฐานเสมอ  เช่น จำได้ว่า ถ้าวางเอียงจะล้ม ถ้าต่อแบบนี้จะได้รูปทรงใด


ยั้งคิดไตร่ตรอง –  ระหว่างเล่นต้องคิดตลอดเวลาว่าจะวางบล็อกชิ้นใด ตรงไหน และเมื่อวางไปแล้วจะได้ผลอย่างไร  รู้ว่าควรเล่นอย่างถูกต้องแบบใด เช่น ไม่ปาบล็อกไปโดนหัวเพื่อน ไม่เอาบล็อกตีเพื่อน ไม่หยิบบล็อกที่เพื่อนต่อไปแล้ว


ยืดหยุ่นความคิด – เมื่อทำบล็อกหล่น หรือ ต่อแล้วไม่ได้ดั่งใจก็เริ่มใหม่  หาวิธีใหม่ๆ  เล่นคนเดียวเมื่อพลาดครั้งหนึ่งก็ได้ลองวิธีใหม่   เล่นกับคนอื่นอาจไม่ได้ดั่งใจก็เรียนรู้ที่จะยอมรับและเล่นต่อโดยใช้สันติวิธี


จดจ่อใส่ใจมีใจจดจ่ออยู่กับการเล่น


ควบคุมอารมณ์เล่นคนเดียวเมื่อไม่ได้ดั่งใจ รู้จักพยายามใหม่ไม่อาละวาดทำลายของ  เล่นกับคนอื่นเมื่อไม่ได้ดั่งใจ รู้จักควบคุมตนเองไว้ไม่ทำร้ายคนอื่น


ติดตามประเมินตนเองการเล่นไม่เคยจบ เพราะรื้อเล่นใหม่ได้  และทุกครั้งที่เริ่มใหม่ เกิดจากการนำการประเมินตนเองมาใช้เสมอ


ริเริ่มลงมือทำเล่นสำเร็จ ได้ผลงานที่พอใจ ความภูมิใจ มั่นใจในความสามารถตนเอง นำสู่การทำเรื่องอื่นที่ยากขึ้น


วางแผนจัดระบบเด็กเล็กเล่นแบบทดลองไปเรื่อย แต่เมื่อเล่นจนชำนาญ  จะเริ่มคิดได้แล้วว่าจะต่อหรือวางอะไรไว้ตรงไหน เพื่อให้เกิดอะไร ก่อนจะวางบล็อกลงไปแต่ละชิ้น  ล้วนเกิดจากการวางแผน


มุ่งเป้าหมาย – เล่นสำเร็จ  สร้างชิ้นงานได้เป็นที่พอใจ เป้าหมายสำเร็จ  เล่นสำเร็จ ขยายสู่การทำงานอื่น ๆ สำเร็จด้วย

Visitors: 22,769