EMPATHY ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (Empathy Skill) เป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยให้คนเรารู้จักสนใจและเข้าใจว่าผู้อื่นรู้สึกอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องฝึกฝนทีละน้อย จากเรื่องง่ายไปสู่เรื่องยาก เรื่องเล็กไปสู่เรื่องใหญ่
วิธีการส่งเสริมทักษะนี้
ช่วยเด็กให้เข้าใจความหมายของอารมณ์ความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เช่น น่ารักจัง โกรธแล้ว ไม่ชอบเลย กลัวจัง เบื่อมาก ฯลฯ
ช่วยเด็กจัดการอารมณ์ความรู้สึกลบให้เป็นเชิงบวก รวมไปถึงการควบคุมการแสดงออกทางอารมณ์ให้เหมาะสม เช่น ถ้าเบื่อกิจกรรมมากจะทำอย่างไร ลุกออกจากห้องไปเลยได้ไหม ถ้าทำอย่างนั้น คุณครู เพื่อนๆ จะรู้สึกอย่างไร หรือ ถ้าโกรธเพื่อนมาก จะทำอย่างไร ตะโกนว่าเพื่อนดังๆเลยได้ไหม ผลักให้ล้มกลิ้งไปเลย ไปบอกให้ทุกคนเลิกเล่นด้วยดีไหม ถ้าทำอย่างนั้นเพื่อนจะรู้สึกอย่างไร
ช่วยเด็กให้เข้าใจว่าการกระทำของเขามีผลต่อคนอื่นเสมอ เช่น เพื่อนเสียใจแล้วที่หนูหยิบของเล่นมา ไก่จะเจ็บมากถ้าหนูจับแรง เราควรลูบขนไก่ไปทางด้านหลัง ถ้าเราลูบย้อนขึ้นมา ไก่จะมีขนยุ่งเหยิงเหมือนเวลาที่เราผมฟู ไก่คงไม่มั่นใจ
ผู้ใหญ่ต้องแสดงพฤติกรรมเป็นตัวอย่าง ทั้งการกระทำและการใช้ภาษาในเชิงเห็นอกเห็นใจผู้อื่น เช่น หากเพื่อนไม่ยอมแบ่งของเล่น ผู้ใหญ่ไม่ควรบอกเด็กว่า "อย่าไปเล่นกับเด็กขี้หวง" แต่ควรชี้ชวนว่า "เพื่อนกำลังต้องพยายามมากเลยที่จะแบ่ง แค่ยังทำไม่ได้เท่านั้นเอง"
อ่านนิทานให้เด็กฟังและชี้ชวนคุยเกี่ยวกับพฤติกรรมต่างๆ เด็กเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องเผชิญเองทั้งหมด และตัวละครในนิทานจะเป็นตัวแบบที่เด็กเข้าถึงได้ง่าย
เปิดโอกาสให้เด็กได้แสดงความเห็นอกเห็นใจบุคคล สัตว์ ธรรมชาติ เสมอๆ