แซมสันผู้เชื่องช้า

แม้แซมสันจะเป็นสล็อตที่เชื่องช้า  แต่เขาก็ชอบที่จะทำให้คนอื่นมีความสุข  ความเชื่องช้าของเขาทำให้ไปงานเลี้ยงไม่เคยทัน   เพราะมัวแต่ช่วยคนอื่นอยู่   จนกระทั่งวันหนึ่งแซมสันรู้สึกว่าอยากไปงานเลี้ยงให้ทันแบบคนอื่น ๆ บ้าง  เขาไม่แวะช่วยเหลือใครอีก  แต่ก็ไปไม่ทันอยู่ดี  แถมยังไม่มีความสุขอีก  คราวนี้เพื่อน ๆ ช่วยกันคิดหาวิธีช่วยแซมสันด้วยการนัดก่อนเวลา  เพื่อให้แซมสันไปงานเลี้ยงทัน   และในที่สุดทุกคนก็อยู่ในงานเลี้ยงอย่างมีความสุข

.

ดูเหมือนว่าความเชื่องช้าของคุณแซมสันในหนังสือเล่มนี้กำลังยืนอยู่ข้าง ๆ การเดินทางแบบละเมียดละไมของชีวิต  สิ่งที่อยู่ปลายทางอาจมีคุณค่า  แต่การรีบเร่งมุ่งไปข้างหน้าอาจทำให้เราลืมมองสิ่งที่อยู่ระหว่างทางที่เป็นประสบการณ์  ความทรงจำ หรือบทเรียนที่ยิ่งใหญ่  ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่ความหมายสำหรับชีวิต

.

คุณแซมสันให้คุณค่ากับการทำให้ผู้อื่นมีความสุข  เขาพลาดงานเลี้ยงเสมอ  เขาเสียเวลาไปมากมายกับการพูดคุยและช่วยเหลือเพื่อน ๆ ทั้งคุณกบ คุณลิง คุณเต่า  แต่เวลาที่คุณแซมสันสูญเสียไปให้คุณกบ คุณลิง คุณเต่านั้น   ทำให้ชีวิตของคุณแซมสันมีความหมาย  

.

สายสัมพันธ์  มิตรภาพ  ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และการอยากให้ผู้อื่นมีความสุข  อาจรอคุณแซมสันอยู่ในงานเลี้ยงได้ก็จริง  แต่ความหมายที่เกิดขึ้นในยามทุกข์ยากเดือดร้อนอาจตราตรึงใจมากกว่าในยามสุขสนุกสนาน

.

ในห้วงหนึ่งของวัยเด็ก  เราอยู่ในวัยที่ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง  แต่การเข้าสังคมของเรา  ทำให้เราเรียนรู้และพัฒนาตนเองทีละน้อยสู่การให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับผู้อื่น  ไปจนถึงการทำอะไรเพื่อผู้อื่น  ซึ่งอาจกลายเป็นความหมายของชีวิต

.

การเดินทางไปงานเลี้ยงของคุณแซมสัน  ทำให้นึกถึงทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs)  แม้ทฤษฎีนี้จะมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1943  และได้รับการกล่าวถึงในแง่มุมหลากหลาย  แต่ก็ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าเราทุกคนมักถูกกระตุ้นให้เติมเต็มความต้องการขั้นพื้นฐานในลำดับต้นก่อนที่จะพัฒนาเพื่อเติบโตไปสู่ลำดับที่สูงขึ้น

.

เริ่มจากความต้องการด้านกายภาพ (Physiological Needs) ที่คุณแซมสันสะท้อนออกมาที่สมรรถนะในการใช้ร่างกาย เขามีจุดด้อยในความเชื่องช้า  แต่ก็พยายามที่จะก้าวข้ามจุดด้อยนั้น  เพื่อไปให้ทัน  แม้ในที่สุดจุดด้อยนั้นไม่ได้หายไป  แต่กลับกลายมาเป็นการตระหนักรู้ในตนเอง  ทดแทน  โชคดีที่คุณแซมสันเคยช่วยเหลือเพื่อน ๆ ไว้  เพื่อน ๆ จึงกลับมาช่วยแก้ไขปัญหาให้อย่างสร้างสรรค์  ความเชื่องช้านั้นยังคงอยู่โดยที่คุณแซมสันก็ยังไปงานเลี้ยงทันเวลา

.

คุณแซมสันพยายามสื่อให้เราสัมผัสถึงความปลอดภัยทางอารมณ์ และความมั่นคงทางในการมีชีวิตที่ดี  ไม่ว่าจะจากตัวเองหรือเพื่อน ๆ ที่เขาช่วยเหลือ  เช่น  ช่วยห้ามลิงที่กำลังทะเลาะกัน  ช่วยพลิกกระดองเต่าจนเต่าเดินได้   ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ในด้านความมั่นคง ปลอดภัย (Safety and Security Needs) 

.

คุณแซมสันอยากไปงานเลี้ยงให้ทัน  เพราะนั่นคือการแสดงออกถึงความเป็นกลุ่มเพื่อน 

เขากลัวเพื่อน ๆ ผิดหวังที่เขาไปงานเลี้ยงไม่ทัน และคิดว่าเพื่อน ๆ โกรธ เมื่อเห็นเพื่อน ๆ รีบเดินจากไป  เหล่านี้เป็นสิ่งสะท้อนความต้องการด้านความรัก (Love/Sense of Belongings)

.

คุณแซมสันนึกขึ้นมาได้ว่าเขาทำตัวแย่และหยาบคายใส่ผู้อื่น  ไม่ได้ช่วยใครเลยจนทำให้ทุกอย่างดูแย่ไปหมด  เขายังคงเชื่องช้าเหมือนเดิม  และนั่นก็ขัดกับความต้องการการเคารพจากคนอื่นและความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเองที่สะท้อนขั้นความต้องการด้านการนับถือในตนเอง (Esteem Needs)  เราจึงเห็นคุณแซมสันร้องไห้สะอึกสะอื้นเสียใจกับตัวเองซึ่งกินพื้นที่หน้ากระดาษถึงสองหน้า 

.

ท้ายที่สุด ขั้นการตระหนักรู้ในตนเอง หรือ อาจเรียกว่าการบรรลุความหมายของชีวิต (Self-Actualization)  คือ การตระหนักในความสามารถของตัวเอง เพื่อเป็นในสิ่งที่เราสามารถเป็นได้อย่างมีความหมายต่อชีวิตของเรา เช่นเดียวกับคุณแซมสันที่อยากเป็นยอมรับในกลุ่มเพื่อนและยังได้ดำรงคุณสมบัติอันเป็นที่รักของเพื่อนไว้ได้ดังเดิม

.

กว่าจะมาถึงขั้นสุดท้าย เราอาจต้องผ่านสี่ขั้นแรก หรือที่เรียกว่า Deficiency needs (D-needs) มาก่อน  การเดินทางมาถึง Being needs or growth needs (B-needs) ซึ่งคือการเติบโตเพื่อบรรลุความหมายภายในของชีวิตย่อมเป็นไปได้โดยไม่ยากนัก   แม้ในยามประสบอุปสรรคหรือวิฤตในชีวิต  อาจทำให้เราถอยกลับไปขั้นต้น ๆ ได้บ้างก็ตาม  แต่การกลับมาสู่การบรรลุความหมายภายในใจของเราอาจไม่ยากแล้ว   เพราะเราเคยผ่านมาได้แล้ว  และอาจทำให้ความหมายนั้นเปลี่ยนไปตามประสบการณ์และการเรียนรู้จากเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วย

.

การเดินทางไปถึงปลายทางของชีวิตที่อาจจะเนิบช้า  สะดุดล้ม  หรือหลงทางไปบ้าง  แต่การมองหาสิ่งที่ความหมายระหว่างทางนั้นอาจพาเราไปสู่การบรรลุความหมายภายใน หรือความสมบูรณ์ของชีวิต  ซึ่งน่าจะทำให้การเดินทางในชีวิตนี้มีความหมาย

.

และเพราะเพิ่งได้ขี่ม้าตัวใหม่ที่ชื่อ “แซมสัน” หนังสือเล่มนี้จึงถูกหยิบออกมาอ่านอีกครั้ง  เป็นห้วงเวลาที่ได้ทบทวนและยืนยันกับตัวเองถึงความสำคัญของความหมายของการเดินทางชีวิตเช่นเดียวกับคุณแซมสันในหนังสือ

 

“แซมสันผู้เชื่องช้า” จึงเป็น “เล่มนี้ที่รัก”


  • ไม่รู้ว่าหลงรักความรู้สึก "เหมือนไม่เคยทำงานมาก่อน" ไปตั้งแต่เมื่อไร ความรู้สึกนี้สร้างความตื่นเต้นและสร้างพลังได้ดี แม้จะมีความกังวลซุกซ่อนอยู่ก็ตาม อันที่จริงงานทุกงานเหมือนกัน แ...

  • “เธอสร้างสวนขึ้นมาใหม่ได้” แม่บอกเม ประโยคนี้คือจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ และเป็นตัวกำหนดตอนจบของเรื่องด้วย ถ้าแม่ไม่พูดอย่างนี้ จะไม่มีเรื่องราวต่อจากนั้นอีกเลย เพราะเมคงจะเดิ...

  • คุณสิงโตช่วยนกน้อยที่บาดเจ็บไว้ พวกเขาผ่านฤดูหนาวด้วยกันไปทีละวัน เมื่อถึงฤดูร้อน นกน้อยก็จากไปพร้อมกับฝูง คุณสิงโตใช้ชีวิตผ่านฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงไปเพียงลำพังด้วยความเข้าใจ จนถึ...

  • เมื่อติดแหง็กอยู่ที่ไหนสักแห่ง ติดแหง็กอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถทำอะไรได้ ติกแหง็กแม้แต่ในความคิด จะทำอย่างไร . หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นที่บอยทำว่าวลอยไปติดบนต้นไม้ เขาพยายามดึงแล...

  • แพนด้ากับเพนกวินรู้สึกว่าโซฟาที่นั่งอยู่เก่าเกินไป พวกเขาช่วยกันหาโซฟาและทดลองนั่งดู แต่ก็ไม่ได้โซฟาที่ถูกใจสักที ในที่สุดพวกเขาก็พากันกลับบ้านและซ่อมโซฟาตัวเดิม ซึ่งดูเหมือนจะเป็น...

  • เรื่องของน้องหมีแต่งตัวมีอยู่แค่ว่าน้องหมีทดลองแต่งตัว ใส่เสื้อ กางเกง รองเท้า และหมวก ใส่เสร็จแล้วก็ไปเที่ยว แค่นั้น...จบ . จบแค่นี้ แต่เป็นเล่มที่รักมากและรักมานานมากเล่มหนึ่ง อั...

  • “กุญแจเปิดบ้านหลังน้อย บ้านหลังน้อยเรืองแสงไฟ ใต้แสงไฟเห็นเตียงนอน บนเตียงนอนมีหนังสือ ในหนังสือนกโบยบิน นกโบยบินขับขานเพลง เพลงดวงดาวยามค่ำคืน” . คำไม่กี่คำในแต่ละหน้าที่ดำเนินไปอ...

  • เรื่องราวเริ่มต้นที่ความรักในหัวใจของคุณจระเข้ เขาหนาวจนตัวสั่นทั้งที่อากาศน่าจะร้อน เพราะเขาอยู่ท่ามกลางทุ่งดอกไม้ที่กำลังบานสะพรั่งและคุณยีราฟที่เขาหลงรักก็แช่ตัวอยู่ในน้ำ บางวัน...
Visitors: 30,547