ทักษะสมอง EF กับโรคและโลกในศตวรรษที่ 21


 

ในช่วงเวลานี้ ปี 2020 เราทุกคนคงเข้าใจ VUCA World อย่างลึกซึ้งถึงขั้วหัวใจ  เพราะ COVID-19 คือ ปรากฏการณ์ที่ทำให้เราได้สัมผัสถึงความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน และคลุมเครือเกินคาดเดา  เราต้องใช้ชีวิตอยู่ด้วยความไม่มั่นใจท่ามกลางโรคระบาดที่ไม่รู้ว่าจะจบสิ้นเมื่อไร และเราจะรอดผ่านไปได้ไหม  ไม่ใช่เฉพาะการรอดชีวิตจากโรคเท่านั้น แต่รวมถึงชีวิตในหลายมิติ

เด็กในศตวรรษที่ 21 เติบโตมากกับสภาพแวดล้อมเหล่านี้  เป็นสภาพแวดล้อมที่ต่างจากพ่อแม่และครูเติบโตมา  เราจึงมิอาจใช้วิธีการเลี้ยงดูเด็กในแบบเดิมตามที่เราเคยได้รับการเลี้ยงดูมาอีกแล้ว  

เด็กในศตวรรษที่ 21 เติบโตขึ้นมาในยุคที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด  (Exponential Growth)  นอกจากการต้องเผชิญกับโรคภัยที่คุกคามการใช้ชีวิต   เรายังพบว่าภาพหลายภาพในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์กลายเป็นภาพจริงแล้วในปัจจุบัน ภาพยนตร์ที่นำเสนอเรื่องโรคระบาดกำลังฉายจริงแล้วในชีวิตของเรา

ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligence  : AI)  ทำหลายสิ่งได้เสมือนมนุษย์และแทนมนุษย์ได้ในหลายๆเรื่อง ตั้งแต่ทำงานพื้นฐานจนถึงขั้นพิจารณากฎหมาย  แน่นอนว่า นักกฏหมายเอไอ ย่อมพิจารณากฎหมายได้แม่นยำและรวดเร็วกว่านักกฎหมายที่เป็นมนุษย์หลายเท่า

บริษัทระดับโลกหลายแห่งประกาศแล้วว่าหากผู้สมัครมีคุณสมบัติตามที่บริษัทต้องการก็สามารถสมัครได้โดยไม่ต้องมีปริญญาบัตร   จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่าการกวดขันเคี่ยวเข็ญให้เด็กเรียนหนังสือตั้งแต่เล็กจนเข้ามหาวิทยาลัย  มีความจำเป็นหรือไม่

COVID-19 ยังทำให้โรงเรียนทั่วโลกต้องปิดเป็นเวลายาวนาน  สถานที่เรียนและรูปแบบการเรียนเปลีย่นแปลงไป   การติว การแข่งขันเพื่อเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ยังจำเป็นอยู่ไหมในเวลานี้ และ โลกอนาคต

โลกยุคใหม่เป็นยุคที่มี “ความรู้” อยู่ทั่วโลก หากอยากรู้เรื่องใดก็สามารถหาได้ในเวลาไม่กี่นาที   “ความรู้” จะอายุสั้นลงทุกวัน  ความรู้ทุกแขนงที่เคยใช้ได้ในวันนี้อาจใช้ได้แค่ครึ่งเดียวในอีกไม่กี่ปีถัดไป หรือ อาจจะใช้ไม่ได้เลย  นั่นหมายความว่า  หมดยุคแล้วที่เราจะเร่งอัดวิชาความรู้ให้เด็ก 

การเรียนรู้มิได้จำกัดอยู่ในห้องเรียนอีกต่อไป  การรู้ว่าจะหาความรู้จากที่ไหน  และ  จะเลือกความรู้ใดมาใช้น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า  
ในโลกยุคใหม่เด็กจึงจำเป็นต้องมีทักษะการเรียนรู้  ทักษะในการแสวงหาความรู้ และ ทักษะในการสร้างองค์ความรู้ เพื่อจัดการกับความรู้ที่มีอยู่มากมาย  และนี่คือสิ่งที่ยั่งยืนกว่าความรู้ 

เด็กยุคใหม่จึงต้องมีคุณลักษณะพิเศษ  ตั้งแต่เรื่องการเรียนรู้  ไปจนถึงการใช้ชีวิตที่มีความสุข มีแรงบันดาลใจ  และการปรับตัวให้อยู่ได้ในทุกสถานการณ์  ไม่ว่าสถานการณ์จะกดดัน บีบคั้น ผิดหวัง มากมายเพียงใด  เด็กก็ต้องเผชิญและนำพาชีวิตให้ก้าวต่อไปให้ได้  

แล้วจะทำอย่างไรล่ะ

 

หากเราย้อนศึกษาบุคคลสำคัญของโลก   บุคคลเหล่านั้นไม่มีชีวิตที่สมบูรณ์แบบในวัยเด็กสักคน  ไม่ได้เรียนเก่งแต่เด็กไปเสียทุกคน  บางคนโดนไล่ออกตั้งแต่เข้าเรียนวันแรกด้วยซ้ำ   แต่ทำไมเขาจึงกลายเป็นบุคคลที่โลกรู้จัก
 
โทมัส อัลวา เอดิสัน  
นักประดิษฐ์ของโลก   มีแม่เป็นครู    เริ่มการทดลองกกไข่ตอนอายุ 6 ขวบ  โดนไล่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่วันแรก เพราะถามครูมากไป  
เขาอ่านหนังสือวันละ 1 เล่ม  และเขียนบันทึกเป็นประจำ   ตลอดชีวิตของเขามีสมุดบันทึก 3,400 เล่ม

มหาตมะ คานธี 
นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพในยุคที่อินเดียเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ  มีพ่อเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เขาเคยขโมยเงินไปซื้อบุหรี่แล้วถูกจับได้   เขารับสารภาพ  พ่อกลับกอดเขาแทนที่จะดุ  ทำให้เขารู้ว่าควรต้องปรับตัวเป็นคนที่ดีกว่าเดิมให้ได้  ตอนเด็กๆเรียนอ่อน และ ไม่มีเพื่อน แต่ก็พยายามจนได้รางวัลเรียนดี  มีหนังสือในดวงใจที่อ่านแล้วนำมาใช้เปลี่ยนแปลงโลก

บิล เกตส์
มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของโลก  ผู้ก่อตั้ง  Microsoft  มีพ่อที่ชอบอ่านหนังสือ  ทำให้เขาชอบอ่านหนังสือแต่เด็ก จนแม่ต้องพาไปพบแพทย์ 
สนใจคอมพิวเตอร์มาแต่เด็ก  เขาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานของเขาอยู่เสมอ เขาเป้าหมายว่าผู้นำต้องเป็นผู้ให้  ปัจจุบันเขาทำงานด้านการกุศลมากมาย

แจ็ค  หม่า 
มหาเศรษฐีอันดับ 1 ของเอเชีย  ผู้ก่อตั้ง Alibaba  เป็นเจ้าของ  Lazada  มีพ่อแม่เป็นนักเล่าเรื่อง  อ่านหนังสือตลอดเวลา  ตอนเด็กๆเรียนไม่เก่ง  โดนล้อที่ตัวเล็ก  แต่ก็มุมานะไปคุยภาษาอังกฤษที่โรงแรมทุกวันเพื่อฝึกภาษา  เรียนจบแล้วหางานไม่ได้  แต่ไม่ย่อท้อ  
เขาเคยกล่าวว่า “คุณไม่มีวันรู้ว่าคุณสามารถทำอะไรได้มากมายแค่ไหน ถ้าไม่ลงมือทำ”

อีลอน มัสค์ 
นักประดิษฐ์ วิศวกร มหาเศรษฐี  ต้นแบบ IRON Man ในโลกจริง  มีบริษัท ยานอวกาศ  SpaceX   พลังงานแสงอาทิตย์ SolarCity  รถยนต์ไฟฟ้า  Tesla Motors  อยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่หย่ากัน ตอนอายุ12 ขวบสร้างวีดีโอเกมขายได้แล้ว  เรียนมหาวิทยาลัย แค่ 2 วันก็ลาออก  เขาอ่านหนังสือวันละ 10 ชั่วโมง  ล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วนแต่สู้เสมอ

เจ เค โรว์ลิ่ง 
เจ้าของรางวัลสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในอังกฤษ   นักเขียนหนังสือที่ขายดีที่สุด ถูกแปล 67 ภาษา  มีแม่เป็นนักอ่าน  สะสมหนังสือ  แม่จัดห้องเขียนหนังสือให้ ชอบอ่านหนังสือแต่เด็ก  แม่เสียชีวิตพร้อมกับที่เธอถูกไล่ออก  ผ่านชีวิตหย่าร้าง เลี้ยงลูกลำพัง  โดนปฏิเสธงานเขียนนับครั้งไม่ถ้วน แต่พยายามจนได้ตีพิมพ์  เธอเคยกล่าวว่า  “อ่านให้มากที่สุด เขียนซ้ำๆ ไม่ยอมแพ้เด็ดขาด”

เราจะพบว่า  บุคคลเหล่านี้   มีบางสิ่งที่คล้ายกันมากในชีวิต ในวัยเด็ก  มีใครสักคนที่ใกล้ชิดเป็นฮีโร่ในดวงใจ  เป็นแรงบันดาลใจ เป็นต้นแบบในชีวิต รักการอ่าน   รักการเรียนรู้ กล้าคิด กล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง กล้าเผชิญ  เป็นนักสู้  และทั้งหมดนี้  เป็นส่วนหนึ่งของทักษะ EF ทั้งสิ้น

มันคงไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่อยู่ดีๆก็เกิดมาเป็นบุคคลที่โลกรู้จัก  การเลี้ยงดูของครอบครัวเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก  ไม่จำเป็นต้องเป็นครอบครัวที่พร้อมหน้าเสมอไป  ขอแค่ใครสักคนที่เป็นฮีโร่ในดวงใจ  และมีความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพกับเด็กก็พอ

แม้เราไม่ได้หวังให้เด็กเป็นอัจฉริยะบุคคล  แต่ก็คงจะดีที่เด็กได้เติบโตไปเป็นคนที่มีคุณค่าในแบบที่เขาเป็น  “ได้ชอบที่ตัวเองเป็น และ ได้เป็นที่ตัวเองชอบ” สามารถปรับตัว ใช้ชีวิตอยู่ใน VUCA World ได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้


เด็กทั่วโลกกำลังอยู่ในช่วงเวลาของการเรียนรู้การใช้ชีวิตในโลกพร้อมกับโรคในศตวรรษที่ 21  นับเป็นโอกาสดีที่เราทุกคนจะใช้ช่วงเวลานี้เรียนรู้ไปพร้อมกัน เพราะเด็กๆกำลังรอฮีโร่อย่างเราอยู่ 


Visitors: 22,057