เรื่อง เล่น เล่น



ไวก็อตสกี้  (Lev Vygotsky.1896-1934) นักจิตวิทยาชาวโซเวียต กล่าวว่า  การเล่นเป็นเหมือนนั่งร้านแห่งพัฒนาการ (scaffolding of development) เด็กได้พัฒนาทักษะหลากหลายจากง่ายไปหายาก  ทุกๆการเล่นจะมีอุปสรรค  Zone of Proximal Development(ZPD)  เด็กจะเรียนรู้ได้ที่ที่สุดจากการช่วยเหลือจากผู้ใหญ่หรือเพื่อนที่มีความสามารถมากกว่า   ซึ่งความช่วยเหลือนั้นก็ควรมาในรูปแบบของการเล่น มากกว่าการเรียนหรือมาจากคำสั่งของผู้ใหญ่   

และนี่เองคือเหตุผลว่าทำไม พ่อแม่และคุณครูจึงควรเล่นกับเด็ก  เด็กเรียนรู้ได้ดีในบรรยากาศที่มีความสุข สนุกสนาน ท้าทาย  และการเรียนรู้นั้นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบๆข้าง  


 

ชวนเด็กๆเล่นให้สอดคล้องกับเวลาทองของสมอง

             การพัฒนาเด็กในแต่ละเรื่องมีระยะเวลาในการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่เท่ากัน    ผู้ใหญ่จึงควรวางรากฐานพัฒนาการเด็กในระยะเวลาที่เหมาะสม   หน้าต่างแห่งโอกาส   (Window of opportunity)   คือ  ช่วงเวลาที่สมองเปิดรับการเรียนรู้ได้ดีที่สุด   การพัฒนาบางเรื่องทำได้ดีที่สุดในช่วงระยะเวลาหนึ่งแต่อาจจะพัฒนาได้ยาก  หากเลยช่วงเวลานั้นไปแล้ว

 


วัยแรกเกิด - 2 ขวบ 

วัยแรกเกิด ถึง 2 ขวบ  วัยนี้สมองเติบโตรวดเร็ว  เส้นใยสมองที่รับข้อมูล (Dendrite)  จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก  เราจะเห็นได้ชัดว่าในวัยนี้มีพัฒนาการด้านร่างกายเปลี่ยนแปลงมากที่สุด  เป็นวัยที่เหมาะทำกิจกรรมที่พัฒนาร่างกาย ประสาทสัมผัส  การมองเห็น  การเรียนรู้คำศัพท์  การคิด คณิตศาสตร์ ภาษาที่สอง รวมไปถึงอารมณ์และสังคมด้วย

การเล่นที่จะพัฒนาสมองของเด็กในช่วงวัยนี้ได้ดี จึงควรเป็นการเล่นที่เด็กที่ใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า  มีการเคลื่อนไหวร่างกาย ทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ และ กล้ามเนื้อมัดเล็ก

เด็กต้องมีโอกาสได้รับสัมผัสจากผู้ใหญ่ ได้รับความรักความอบอุ่น  มีผู้ใหญ่พูดคุยด้วยเพื่อเรียนรู้การใช้ภาษาและสะสมคลังคำศัพท์   กิจกรรมง่ายๆ เช่น เล่นขี่หลังพ่อ เล่นเครื่องบินบนขาพ่อ นั่งตักฟังแม่เล่านิทาน เล่นโยกเยกกับแม่ รวมไปถึงการเล่นของเล่นที่ได้สัมผัส ฟังเสียง ใช้สายตามอง หรือสำรวจสิ่งแวดล้อมรอบๆตัว  ได้พบปะกับผู้คนที่นอกเหนือจากคนในครอบครัวบ้าง 

 

วัย 2-7 ปี

วัยนี้สมองก็ยังพัฒนาอย่างรวดเร็วอยู่   เห็นได้ชัดจากพัฒนาการทางภาษาที่จะปรากฏเด่นชัดที่สุดในช่วงนี้  จากไม่สามารถพูดได้เลยก็พัฒนาสู่การพูดเป็นประโยคและสามารถสื่อสารกับบุคคลรอบข้างได้ดีในช่วงท้ายของวัย  

ที่สำคัญ เด็กวัยนี้จะมีพัฒนาการการคิดควบคู่มากับพัฒนาการทางภาษา  มีการคิดแบบสัญลักษณ์  (Symbolic Thinking) เด็กจึงชอบเล่นด้วยการเลียนแบบผู้ใหญ่ ชอบเล่นบทบาทสมมุติ  อันที่จริง  เด็กเริ่มเล่นบทบาทสมมุติมาตั้งแต่อายุ 1 ขวบครึ่ง  เด็กจะเลียนแบบท่าทาง คำพูด และความรู้สึกของคนรอบข้าง  เพราะสมองมีเซลล์ประสาทที่เรียกว่าเซลล์กระจกเงา (Mirror Neuron) ที่ทำให้เกิดการเรียนรู้จากการเด็กเลียนแบบผู้อื่น  ในช่วงเล็กๆเด็กจึงต้องเห็นตัวแบบที่ดีทั้งการกระทำ คำพูด และความคิด  เพราะเด็กจะสังเกต จำ และทำตาม  กลายเป็นการเรียนรู้ของเด็กในที่สุด  

ความสนใจของเด็กในวัยนี้เริ่มขยายออกไปสู่สิ่งรอบตัวมากขึ้น  จึงปรากฏการเล่นเลียนแบบบ่อยครั้ง  เด็กมักอารมณ์ดีร่าเริงสนุกสนานกับท่าทางและเสียงตลกๆของคนรอบข้าง  มักจะตื่นเต้นกับภาพหรือเรื่องราวในหนังสือ  ชอบทดลองทำสิ่งต่างๆเพื่อดูปฏิกิริยา เช่น เด้งได้ มีเสียง มีแสง ชอบต่อแล้วรื้อ  รื้อแล้วจัด  แต่ระหว่างที่ทำก็เรียนรู้เรื่องรูปทรง สีสัน  น้ำหนัก ลำดับ ไปด้วย  ชอบกิจกรรมหลายอย่างที่ท้าทายและได้ลงมือทำ

การเล่นที่จะพัฒนาสมองของเด็กในวัยนี้ได้ดี  ควรเป็นการเล่นที่เด็กได้มีโอกาสจับต้อง คิดสร้างสรรค์ แก้ปัญหา ฝึกทักษะคณิตศาสตร์  ภาษาที่สอง และ ดนตรี  เช่น  บล็อกไม้  ตัวต่อพลาสติก  เล่นน้ำ เล่นทราย ต่อจิ๊กซอว์ เล่นบอร์ดเกม หรือ การเรียนรู้ผ่านเกม  (Game based Learning)  รวมไปถึงการช่วยเหลือผู้ใหญ่ในการทำงานบ้านง่ายๆ  เช่น  รดน้ำต้นไม้ พับผ้า  หั่นผัก    กิจกรรมที่ได้ลงมือทำเหล่านี้จะช่วยพัฒนาสมองส่วนต่างๆได้ครบ  

การเล่นที่ไม่แนะนำในวัยนี้คือการเล่นของเล่นที่ใช้แบตเตอรี่ หรือ เล่นสมาร์ทโฟนนานๆ   แม้สมองส่วนการมองเห็นจะทำงานในขณะที่นั่งดูของเล่นเคลื่อนไปมาและเห็นภาพเคลื่อนไหวขณะเล่นสมาร์ทโฟนก็ตาม  แต่สมองส่วนอื่นๆจะทำงานน้อยมากจนถึงไม่ทำงานเลย

 


 

วัย 7-12 ขวบ

          เมื่อเข้าสู่วัยนี้ เข้าสู่การเป็นพี่ประถมแล้ว  เด็กเริ่มคิดอย่างมีเหตุผลได้บ้าง  แต่การคิดนั้นยังเป็นเชิงรูปธรรม  นั่นหมายถึงต้องมีของจริงให้เด็กเห็น   การคิดเชิงนามธรรมอาจเป็นไปได้บ้างแต่ก็ไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะเข้าใจเรื่องนามธรรม     ในช่วงวัยนี้  เด็กควรได้ทดลองเรียนรู้ประสบการณ์ที่หลากหลายเพื่อค้นหาตนเองว่ามีความชอบ สนใจ หรือ ถนัดด้านใด เช่น ภาษา คณิตศาสตร์ มิติสัมพันธ์ กีฬา ดนตรี มนุษยสัมพันธ์ ความเข้าใจตนเอง หรือ ธรรมชาติ

การเล่นที่เหมาะกับเด็กในวัยนี้คือ การเล่นเกมที่มีกฎกติกากำหนดเพิ่มขึ้น เพื่อส่งเสริมการทำตามกฎกติกาการอยู่ร่วมกันในสังคมผ่านการเล่นสนุก  เด็กจะเรียนรู้บทบาทของตน  การยอมรับข้อตกลง  ซึ่งจะเป็นพื้นฐานของการใช้ชีวิตตามระเบียบสังคมที่จะนำสู่การปฏิบัติตามกฏหมายในวัยผู้ใหญ่  ที่สำคัญ  ในระหว่างการเล่นหรือทำกิจกรรมต่างๆนั้น   ควรต้องสร้างคำถามให้เด็กคิดอยู่เสมอ  เช่น  ถ้าเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ควรจะทำอย่างไร  เพื่อให้เด็กฝึกการคิด การแก้ปัญหา การวางแผน   รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงการเล่นกับการเรียนรู้ความถนัดด้านต่างๆได้ เช่น เล่นดนตรี เล่นกีฬา เต้นรำ ทำงานศิลปะ  เพราะนอกจากจะทำให้เด็กมีความสุข  มีความมั่นใจในความสามารถของตนเองแล้ว  ยังสร้างทักษะในการทำงาน  การแก้ปัญหา ด้วย  เมื่อเด็กทำสำเร็จในเรื่องหนึ่ง  เรามักพบว่าเขาจะประสบความสำเร็จในการเรียนรู้อีกหลายๆด้านตามมาด้วย   

การเล่นที่น่าสนใจสำหรับช่วงวัยนี้ คือ  การเล่นเกมเพื่อการเรียนรู้  Games based Learning   ซึ่งเป็นการเรียกสื่อในการเรียนรู้แบบหนึ่งที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้มีความสนุกสนานไปพร้อมกับการพัฒนาทักษะการเรียนรู้  โดยสอดแทรกเนื้อหาการเรียนรู้เอาไว้ในเกมที่ทำให้เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนรู้  การทำงานเป็นทีม รู้จักการปฏิบัติกฎ กติกา มารยาท  ซึ่งจะพัฒนาไปสู่การทำตามระเบียบข้อตกลงของสังคมในอนาคต    

รูปแบบของเกม เช่น  Quiz   Crossword  puzzles  ช่วยฝึกเรื่องความจำ การเล่นที่ได้ลงมือทำ ย่อมช่วยให้เกิดความจำที่คงทนกว่าและพร้อมนำไปใช้ได้   เกม Simulation เช่น  เกมขับรถ  เป็นเกมที่ช่วยฝึกทักษะที่ต้องนำมาใช้จากการจำลองสถานการณ์เรื่องราวโดยมีตัวแปร เวลา รูปแบบ เข้ามาเกี่ยวข้อง   เกมกีฬาต่างๆ เป็นการฝึกความคิดรวบยอดและกฎข้อบังคับต่างๆ   เกมผจญภัยและเกมแก้ปัญหา เป็นเกมที่ช่วยฝึกการตัดสินใจ การแก้ปัญหา การอยู่ร่วมกับสังคม  และ เกมภาษา จะช่วยฝึกการใช้ภาษา   

โลกเปลี่ยนไปแล้ว ปัจจุบัน เกมสามารถสร้างรายได้  เกมสร้างอาชีพ เช่น นักพัฒนาเกม  และสถานศึกษาหลายแห่งมีหลักสูตรสอนพัฒนาเกม การเล่นเกม จึงไม่ใช่เรื่องไร้สาระเสมอไป เกมหลายรูปแบบมีประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะต่างๆ  เพียงแต่ต้องประคองให้อยู่ในความเหมาะสมเท่านั้น  


เล่นอะไรดี

ในช่วงเล็กๆ  คุณพ่อคุณแม่และคุณครูอาจช่วยเลือกและแนะนำการเล่นที่เหมาะสมกับวัยให้เด็กๆ  ด้วยการชวนเล่นแล้วสังเกตดุว่าเด็กสนใจกิจกรรมใด  หรือ  อาจดูอารมณ์เด็กในขณะนั้นก็ได้   โตขึ้นมาสักหน่อย  เมื่อเด็กเลือกเองได้  ก็จำเป็นที่จะต้องให้เด็กมีโอกาสเลือก  ในช่วงวัยนี้เลือกเลือกเป็นแล้ว  และควรจะรู้แล้วว่าตนเองชอบ สนใจ ถนัดอะไร  การได้ลองทำกิจกรรมที่หลากหลายจะช่วยเด็กค้นหาตัวตนได้ดีขึ้น   ตัวตนเป็นเรื่องสำคัญ  เพราะจะนำสู่การนำจุดเด่นออกมาใช้ พัฒนาจุดเด่นของตนให้เด่นขึ้นมา   หมายความว่า  เด็กควรจะรู้ว่าตัวเองชอบอะไร ทำอะไรได้ดี  เพื่อเลือกเรียนในด้านนั้นๆ  ซึ่งมีแนวโน้มว่าเขาจะประสบความสำเร็จในการทำงานที่เขารักและถนัดในอนาคตด้วย



 

Visitors: 25,515