COVID-19  กับทักษะศตวรรษที่ 21 สำหรับเด็กปฐมวัย



ในประเทศสหรัฐอเมริกา  แนวคิดเรื่อง "ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21" ได้ถูกพัฒนาขึ้น โดยภาคส่วนที่เกิดจากวงการนอกการศึกษา ประกอบด้วย บริษัทเอกชนชั้นนำขนาดใหญ่ เช่น บริษัทแอปเปิ้ล บริษัทไมโครซอฟ บริษัทวอล์ดิสนีย์ องค์กรวิชาชีพระดับประเทศ และสำนักงานด้านการศึกษาของรัฐ รวมตัวและก่อตั้งเป็นเครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) หรือเรียกย่อๆว่า เครือข่าย P21   หน่วยงานเหล่านี้มีความกังวลและเห็นความจำเป็นที่เยาวชนจะต้องมีทักษะสำหรับการออกไปดำรงชีวิตในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ที่เปลี่ยนไปจากศตวรรษที่ 20 และ 19 จึงได้พัฒนาวิสัยทัศน์และกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21ขึ้น

ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21  จึงหมายถึง ความสามารถ สมรรถนะที่ต้องมีในแต่ละบุคคลเพื่อให้สามารถปรับตัวและดำเนินชีวิตท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรมและเทคโนโลยีในช่วง ค.ศ. 2001 – 2100

การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ต้องคำนึงถึงพัฒนาการและความแตกต่างของแต่ละช่วงวัย   ทักษะบางประการ  เด็กปฐมวัยอาจไม่สามารถปฏิบัติได้ในทันทีและไม่สามารถทำได้เท่ากับผู้ใหญ่  แต่การปลูกฝังตั้งแต่ปฐมวัย  เป็นการปูพื้นฐานเตรียมความพร้อมทักษะด้านต่างๆได้   โดยเฉพาะในสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบัน  ที่เป็นสิ่งยืนยันได้อย่างดีว่าการปรับตัวเพื่ออยู่ในโลกที่ไม่แน่นอน ผันผวน ซับซ้อนและคลุมเครือนั้นมีความสำคัญเพียงใด   เราทุกคนต้องพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ให้ตนเอง และ ช่วยสร้างทักษะนี้ให้กับเด็กๆด้วย


ทักษะกลุ่มพื้นฐาน เรียกว่า 3 R คือ Reading อ่านออก, (W)Riting เขียนได้, และ (A)Rithemetics คิดเลขเป็น  ในช่วงปฐมวัย  เราอาจไม่จำเป็นต้องทำให้เด็ก อ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น  เพียงแค่เตรียมพื้นฐานให้เด็กพร้อมต่อการอ่านออก เขียนได้ คิดเลขเป็น เพื่อส่งต่อเข้าสู่ระดับประถมศึกษา  

  • อ่านออก (Reading)   คือ ความสามารถในการอ่านอย่างเข้าใจ  พฤติกรรมบ่งชี้สำหรับเด็กปฐมวัย เช่น  สนใจนิทาน  ตั้งใจฟังนิทานเมื่อผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง  จำสัญลักษณ์ได้  รู้จักเปิดหนังสือจากหน้าไปหลัง  ถือหนังสือถูกด้าน  เลียนแบบท่าทางการถือหนังสือหรือท่าทางการอ่านหนังสือของผู้ใหญ่  ชี้พยัญชนะหรือภาพ  เริ่มรู้จักอ่านคำที่ปรากฏคู่กับภาพ ทำท่าทางเสมือนอ่าน  มีหนังสือที่ชอบ    ผู้ใหญ่สามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ได้โดยเตรียมความพร้อมทักษะการอ่าน เช่น อ่านนิทานให้ฟัง ให้เด็กมีส่วนร่วมในการอ่าน มีส่วนร่วมในการเลือกหนังสือ มีโอกาสเปิดดูหนังสือภาพบ่อยๆ   คุ้นเคยกับหนังสือ   รู้จักหนังสือ  รู้วิธีใช้หนังสือ โดยจัดกิจกรรมการอ่านให้เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน  ซึ่งการส่งเสริมทักษะการอ่านนี้จะต้องเริ่มตั้งแต่ก่อนที่เด็กจะอายุ 3 ปี เพราะเป็นวัยที่สมองเติบโตรวดเร็วและมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีกว่าวัยอื่น  "การอ่านได้" นั้น  เมื่ออยากอ่านก็จะอ่านได้เองตามวัย  แต่ "การอ่านเป็น" นั้นสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ในโลกที่มีข่าวสารมากมาย  การอ่านเป็นจะช่วยให้คนเราสามารถเลือกรับข้อมูล  แปลความอย่างเหมาะสม  และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้  ซึ่งสามารถฝึกได้ตั้งแต่ปฐมวัยด้วยการจัดกิจกรรมหลังการอ่าน  ทำกิจกรรมต่อเนื่องจากเรื่องที่อ่าน  และพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องที่อ่าน ด้วยการสนทนาเกี่ยวข้องกับ ตัวละคร ฉาก โครงเรื่อง แก่นเรื่อง
  • เขียนได้ (Writing)   คือ ความสามารถในการเขียนอย่างมีคุณภาพ  พฤติกรรมบ่งชี้สำหรับเด็กปฐมวัย เช่น  วาดภาพ  ขีดเขี่ย  เขียนสัญลักษณ์  เขียนเส้นลักษณะต่างๆ   เริ่มขอให้ผู้ใหญ่เขียนคำให้ดู  ลอกอักษรหรือคำตามแบบ  เรียกชื่อพยัญชนะได้บางตัว  อธิบายสิ่งที่วาดหรือเขียนได้   ผู้ใหญ่สามารถจัดประสบการณ์การเรียนรู้ได้โดยเตรียมความพร้อมกล้ามเนื้อมือ  ส่งเสริมการประสานสัมพันธ์มือและตา เช่น วาด ขีดเขี่ย ปั้น ระบาย ศิลปะ เล่นน้ำเล่นทราย เล่นของเล่นส่งเสริมพัฒนาการต่างๆ  รวมไปถึงการส่งเสริมให้เด็กทำกิจวัตรประจำวันต่างๆด้วยตนเองเพราะการที่เด็กจะเขียนหนังสือได้นั้นเกิดจากการใช้วุฒิภาวะของกล้ามเนื้อมัดเล็กและตาที่สัมพันธ์กันในการเลื่อนมือไปในทิศทางตามลักษณะของตัวหนังสือ  ซึ่งเด็กต้องได้รับการส่งเสริมกล้ามเนื้อมือกับตาให้คล่องแคล่วก่อนที่จะสามารถเขียนได้
  • คิดเลขเป็น (Rithmetics)  คือ ความสามารถในการใช้ตัวเลข   พฤติกรรมบ่งชี้สำหรับเด็กปฐมวัย เช่น รู้จักคุณสมบัติ ลักษณะของสิ่งต่างๆ รูปร่าง รูปทรง สี ขนาด จำนวน  ท่องตัวเลขเรียงลำดับด้วยปากเปล่า  หยิบของตามจำนวน (ตามความแตกต่างของวัย)  บอกชื่อตัวเลข  จัดกลุ่มสิ่งของประเภทเดียวกัน  เรียงลำดับขนาด   จำแนกความแตกต่างของ ยาว สั้น อ้วน ผอม  มาก น้อย  เปรียบเทียบน้ำหนัก ขนาด เริ่มเข้าใจการเพิ่มขึ้น ลดลง  ผู้ใหญ่สามารถจัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์ได้โดย เตรียมความพร้อมทักษะคณิตศาสตร์ 7 ทักษะ  ได้แก่ การสังเกต(Observation)  ทักษะการจำแนกประเภท(Classifying)  ทักษะการเปรียบเทียบ(Comparing)  ทักษะการจัดลำดับ(Ordering) ทักษะการวัด(Measurement) ทักษะการนับ(Counting) ทักษะเกี่ยวกับเรื่องรูปทรงและขนาด(Sharp and Size)  เช่น จัดกิจกรรมให้เด็ก สังเกต จำแนก เปรียบเทียบ  รู้จักตัวเลข สี รูปทรง ขนาด จากการเล่น ท่องจำนวนปากเปล่า นับจำนวนง่ายๆจากสิ่งต่างๆรอบตัว เรียงลำดับสิ่งต่างๆ   รวมไปถึงการฟังนิทานที่เกี่ยวกับตัวเลข
 
 

ทักษะกลุ่มถัดมา  เป็นกลุ่มทักษะชีวิตและการทำงาน  ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม  ทักษะด้านสารสนเทศสื่อและเทคโนโลยี  

  • ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะการแก้ปัญหา  (Critical Thinking and  Problem Solving)   คือ ความสามารถในการคิดที่จะมีผลต่อความเชื่อและการกระทำ  รวมไปถึงการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์  พฤติกรรมบ่งชี้สำหรับเด็กปฐมวัย เช่น เรียงลำดับสิ่งต่างๆ   บอกได้ว่าสิ่งใดอันตราย  รู้จักแก้ปัญหาง่ายๆเอง  บอกผลที่จะเกิดจากการกระทำ  บอกพฤติกรรมที่ดี / ไม่ดี  จัดกลุ่มสิ่งต่างๆตามประเภท  จับคู่สิ่งที่สัมพันธ์กัน บอกสิ่งที่เห็นว่าเหมือนต่างอย่างไร   ผู้ใหญ่สามารถส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมที่หลากหลายและให้โอกาสเด็กในการตัดสินใจ แก้ปัญหาต่างๆด้วยตนเอง  ผ่านการเล่นและการทำกิจกรรมที่มีความหลากหลาย  ส่งเสริมให้เด็กคิดด้วยการถามคำถามให้เด็กคิดบ่อยๆ  บอกเหตุผลเพื่อใช้อธิบายเหตุต่างๆ  เปรียบเทียบความแตกต่างของสิ่งต่างๆหรือเหตุการณ์รอบตัว  เช่น ในสถานการณ์ COVID-19  เด็กอนุบาลควรมีความเข้าใจเบื้องต้นว่าการติดเชื้อเกิดจากเหตุใดบ้าง  จะป้องกันตนเองได้อย่างไร  ทำอย่างไรจึงจะช่วยป้องกันการกระจายเชื้อสู่ผู้อื่น  ถ้าอยู่ในเหตุการณ์ที่เพื่อนปฏิบัติตนไม่เหมาะสม เช่น ไม่สวมหน้ากากอนามัย เข้ามากอด จะทำอย่างไร
  • ทักษะการสร้างสรรค์และนวัตกรรม  (Creativity & Innovation)  คือ ความสามารถในการสร้างหรือพัฒนาสิ่งใหม่ที่มีคุณค่าพฤติกรรมบ่งชี้สำหรับเด็กปฐมวัย  เช่น  สนใจทำกิจกรรมศิลปะ  ดนตรี  มีจินตนาการ   ริเริ่มผลงานใหม่ๆ  ทดลองใช้สิ่งของหรือทำสิ่งต่างๆด้วยวิธีที่หลากหลาย   ใช้คำถามและรู้จักหาคำตอบ  สามารถส่งเสริมทักษะนี้ได้โดยให้เด็กทำกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นศิลปะ ดนตรี การแสดง กีฬา หรือแม้แต่การเล่นอิสระต่างๆ   โดยเปิดโอกาสให้เด็กแสดงออก ทดลองทำหลากหลาย  ไม่ปิดกั้นหรือกำหนดกรอบความคิด  แม้จะต้องลองผิดลองถูกบ้างก็ตาม  สถานการณ์ COVID-19 ทำให้เราเห็นชัดเจนเลยว่า  โรคใหม่ที่เกิดขึ้น ต้องการนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ  ต้องการวิธีการจัดการใหม่ๆในองค์กรเพื่อรับมือกับโรคระบาด  ต้องการวิธีการสอนใหม่ๆเพื่อใช้การจัดกิจกรรมโดยเว้นระยะห่าง และเชื่อว่าทุกวิชาชีพต้องการนวัตกรรมใหม่ทั้งสิ้น   ทักษะสร้างสรรค์และนวัตกรรมจึงจำเป็นมากจริงๆในศตวรรษนี้
  • ทักษะการสื่อสาร (Communication)  คือ ความสามารถในการฟัง พูด อ่าน เขียน อย่างมีประสิทธิภาพ  พฤติกรรมบ่งชี้สำหรับเด็กปฐมวัย  เช่น บอกความต้องการของตนเอง รับฟังความเห็นของผู้อื่น  สนทนาโต้ตอบ เล่าเรื่องราว  ผู้ใหญ่สามารถส่งเสริมทักษะนี้ได้โดยให้เด็กมีโอกาสในการสื่อสารกับบุคคลอื่นด้วยวิธีที่หลากหลาย  ไม่ว่าจะเป็นการพูด วาด แสดง  เปิดโอกาสให้เด็กนำเสนอความคิดและผลงานของตนเองสม่ำเสมอ   ที่สำคัญ  ควรส่งเสริมให้เด็กสื่อสารอย่างเหมาะสมกับวัยโดยมีผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดี   เช่น  พูดเป็นคำชัดเจน  ไม่ใช้คำซ้ำที่ไม่เป็นปกติในการสื่อสารกับเด็กอายุเกิน 2 ขวบไปแล้ว  เช่น  มาหา "แม่แม่" มาลูก  นั่งนั่งตรงนี้  มามา เดินเดินไปทางนั้นกัน   เพราะเด็กอายุเกิน 2 ขวบขึ้นไป  ควรจะต้องใช้คำ 2 คำต่อกันอย่างมีความหมายและเริ่มเรียงประโยคง่ายๆได้เอง  ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาเด็กกับเด็ก  เช่น  ฉวย (สวย)  พูดให้ชัดและเรียงประโยคให้ถูกต้องไปเลย  เพราะเด็กเรียนรู้การใช้ภาษาจากผู้ใหญ่  การเตรียมพร้อมอย่างดีที่บ้านจะช่วยให้เด็กสื่อสารได้เป็นปกติเมื่อเข้าเรียนในโรงเรียน  นอกจากนี้  เด็กควรตีความสีหน้า ท่าทาง อารมณ์ของผู้อื่นได้ด้วย  เพื่อใช้ในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  แม้ในช่วงสถานการณ์ COVID-19  การติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลในชีวิตประจำวันอาจลดน้อยลง   พึ่งพาสื่อเทคโนโลยีมากขึ้น   แต่ท้ายที่สุดแล้วสื่อเทคโนโลยีต่างๆก็มิอาจแทนที่การปฏิสัมพันธ์จริงของคนเราได้ทั้งหมด  การห่างกันไปนานย่อมจะทำให้เกิดความรู้สึกโหยหาและเห็นคุณค่าของการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากขึ้น  แม้จะเริ่มชินกับการใช้สื่อเทคโนโลยีแล้วก็ตาม  
  • ทักษะด้านความร่วมมือ  การทำงานเป็นทีม  (Collaboration & Teamwork)   คือ ความสามารถในการร่วมมือร่วมใจทำงานจนสำเร็จและมีความสุขร่วมกัน  พฤติกรรมบ่งชี้ เช่น เล่นและทำกิจกรรมกับเพื่อน   มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น   รู้จักปฏิบัติตามข้อตกลง   ผู้ใหญ่สามารถส่งเสริมได้โดยให้เด็กทำกิจกรรมร่วมกับบุคคลต่างๆ  เปิดโอกาสให้เด็กรู้จักการเป็นผู้นำผู้ตาม   แม้ในสถานการณ์ COVID-19 การจัดกิจกรรมสำหรับเด็กจะต้องคำนึงถึงการเว้นระยะห่างทางกายภาพ  งดเว้นการจัดกิจกรรมกลุ่มลงไป  แต่เด็กๆสามารถฝึกฝนทักษะนี้ได้จากการฝึกทำตามข้อตกลงในวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ด้วยความเข้าใจ เช่น ไม่แบ่งปันของเล่นให้เพื่อน  ไม่ใช่เพราะหวง  แต่เพราะในของเล่นนั้นอาจมีเชื้อโรคอยู่  เราไม่ควรส่งต่อเชื้อโรคให้กับเพื่อน   ส่วนการทำงานเป็นทีมนั้น  เด็กอาจต้องเว้นระยะห่างทางกายภาพ   แต่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นการทำผลงานรายบุคคลแล้วนำมาเชื่อมโยงสัมพันธ์กันเป็นผลงานกลุ่มโดยที่เด็กไม่ต้องมาใกล้ชิดกัน  งานสำเร็จได้โดยการที่ทุกคนทำหน้าที่ของตนให้ดี  เมื่อทำหน้าที่ของตนเองดี  ย่อมส่งผลต่องานกลุ่มที่ดีด้วย

 

  • ทักษะด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี  (Computing & ICT literacy)   คือ ความสามารถในการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการค้นหาความรู้ หรือสร้างสรรค์นวัตกรรม  เด็กที่เติบโตมายุคศตวรรษที่ 21  ในชุมชนเมือง  ย่อมจะคุ้นเคย คล่องแคล่วกับสื่อเหล่านี้อยู่แล้ว   การหลบซ่อนสื่อเทคโนโลยีก็คงไม่น่าจะทำได้แล้วในเวลานี้  เพราะเด็กในชุมชนเมืองคุ้นเคยแล้ว  จะหลบลี้หลีกเลี่ยงอย่างไรคงทำได้ยาก  เกิดมาก็เห็น  เดินไปทางไหนก็เห็นคนรอบๆตัวใช้อยู่ทั้งวัน ไม่ต้องส่งเสริมให้เด็กสนใจ  เด็กก็สนใจเอง   หน้าที่ของครูของเด็กชุมชนเมือง คือ ส่งเสริมให้เด็กใช้อย่างเหมาะสม  ไม่ยัดเยียดความรู้สึกให้เด็กว่าสื่อต่างๆนั้นเป็นสิ่งเลวร้าย  เพราะมันจะมีประโยชน์ในวันหนึ่งข้างหน้าของชีวิตเด็ก  เราไม่อาจปฏิเสธสื่อเทคโนโลยีได้  แม้แต่วันเกษียณเองก็ยังจำเป็นต้องเรียนรู้สื่อเทคโนโลยีเหล่านี้เพื่อก้าวไปให้ทันโลก  ดังนั้นการตีตราว่าสื่อเทคโนโลยีไม่ดีให้เด็กรับรู้แต่แรกนั้น  ดูจะเป็นการยัดเยียดแง่ลบให้เด็กมากเกินไป   สำหรับเด็กในท้องถิ่นที่อาจไม่คุ้นเคย  คุณครูก็มีหน้าที่แนะนำให้เด็กได้รู้จักสื่อเทคโนโลยีและส่งเสริมให้เด็กใช้อย่างเหมาะสม  จากการจัดกิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์ เช่น ใช้อินเตอร์เน็ตค้นหาข้อมูลที่อยากรู้  ใช้ติดต่อสื่อสารสัมภาษณ์กับผู้เชี่ยวชาญที่อยู่ไกลออกไปโดยไม่ต้องเดินทางไปหากัน  เช่น  อยู่ภาคเหนือ อยากรู้เรื่องชาวเล  ก็ติดต่อกับชาวเลที่ภาคใต้ทางออนไลน์   โลกแห่งความรู้ก็จะเคลื่อนมาใกล้ตัว  ทักษะการเรียนรู้ก็ได้พัฒนา และเด็กซึมซับความหมายว่า  สื่อเทคโนโลยีต่างๆนั้นมีประโยชน์  ส่วนที่เป็นแง่ลบนั้นก็น่าจะค่อยๆลดลงไปเอง  เพราะเด็กรู้แล้วว่าแง่ดีคืออะไร  ที่สำคัญ สถานการณ์ COVID-19 ก็ทำให้เราเห็นกับตาแล้วว่าทักษะคอมพิวเตอร์และไอซีที  จำเป็นกับทุกคนบนโลกใบนี้มากเพียงใด
  • ทักษะอาชีพและทักษะการเรียนรู้  (Career & learning skills)   คือ ความสามารถด้านอาชีพที่ตนเองชอบและถนัด  พฤติกรรมบ่งชี้สำหรับเด็กปฐมวัย เช่น รู้ว่าตนเองชอบอะไร  รู้ว่าตนเองมีความสามารถด้านใด  มีวินัยในตนเอง  มีความรับผิดชอบ  อดทนรอคอย  ทำงานสำเร็จ  มีความกล้าแสดงออก มั่นใจ  ที่สำคัญ คือ ควรรู้ว่าจะทำมาหากินอย่างไรจากทักษะและความสามารถของตน   ดังนั้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจึงมีความสำคัญมาก   โดยเริ่มจากการส่งเสริมให้เด็กทำสิ่งต่างๆในชีวิตประจำวันด้วยตนเอง  เช่น เก็บของเล่น ทำงานให้เสร็จ เข้าแถวรอคอยตามลำดับ  และค่อยๆขยายความยากมากขึ้นตามอายุ เช่น ช่วยแม่ทำกับข้าวขาย ไปส่งของให้แม่ การเรียนรู้ทักษะชีวิตและทักษะอาชีพเป็นสิ่งที่ค่อยๆเรียนรู้จากในชีวิตประจำวัน  ซึมซับและสั่งสมไปเรื่อยๆ  เช่น การช่วยแม่เฝ้าร้านขายของ  ต้องรู้จักระวังลูกค้าที่อาจเป็นมิจฉาชีพ ฝึกสังเกตท่าทีของผู้คนต่างๆ  ฝึกการคิดเงิน  ฝึกการบริการ   เด็กที่เอาแต่เรียนอย่างเดียวจะไม่มีโอกาสฝึกทักษะนี้เลย  สถานการณ์ COVID-19 คงทำให้เราเห็นแล้วว่าอาชีพที่คิดว่ามั่นคงอาจไม่มั่นคง   กิจการถูกปิดยาวนาน หรือ ถูกเลิกจ้างก็ตาม แต่หากเราปรับตัว รับมือ และสร้างรายได้อื่นเพิ่มขึ้นมาจากสิ่งที่มี หรือความสามารถที่มี  ย่อมจะค่อยๆผ่านสถานการณ์นี้ไปได้  แม้จะไม่มีรายได้เท่าเดิม  แต่การมีกิจกรรมทำในแต่ละวันย่อมดีกับจิตใจมากกว่าที่จะปล่อยเวลาให้ผ่านไป   การรู้ว่าตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร ก็มีความสำคัญมาก  การที่คนเราจะรู้ได้ว่าตนเองชอบอะไร หรือ ถนัดอะไร  ต้องมีโอกาสในการทดลองทำและค้นหา  รู้เร็วเท่าไรก็จะพัฒนาความถนัดของตนเองให้กลายเป็นความชำนาญได้เร็วเท่านั้น   ทักษะอาชีพและทักษะชีวิตจึงสำคัญมากจริงๆสำหรับศตวรรษที่ 21  
  • ทักษะสังคมและความเข้าใจต่างวัฒนธรรม  (Cross-cultural understanding)   คือ ความสามารถในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคม  พฤติกรรมบ่งชี้สำหรับเด็กปฐมวัย เช่น แสดงความเคารพตามวัฒนธรรม  รู้ว่าเมื่อใดควรทำอะไร  บอกได้ว่าบุคคลมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร  บอกได้ว่าภาษาที่ได้ยินเป็นภาษาของตนเองหรือภาษาอื่น   การส่งเสริมทักษะนี้สามารถทำได้โดยชวนเด็กตระหนักถึงการเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน  โดยเริ่มจากความแตกต่างของบุคคลรอบตัวและปลูกฝังให้แสดงออกอย่างเหมาะสม   สถานการณ์ COVID-19  ทำให้เราได้รับข่าวสารและเกิดความสนใจประเทศต่างๆทั่วโลกมากขึ้น  ทำให้เรารู้ว่าสังคมโลกนั้นมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงและสัมพันธ์กัน  ประเทศหนึ่งที่มีโรคระบาด  ก็ส่งผลต่อประเทศอื่นๆได้ด้วย  ดังนั้น การรับผิดชอบต่อตนเองจึงสำคัญมาก  การกระทำของเราสามารถส่งผลถึงครอบครัว ชุมชน จังหวัด ภูมิภาค ประเทศ และ ขยายไกลออกไปต่างประเทศได้อีก  นอกจากนี้  ข่าวสารในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ยังทำให้เห็นความแตกต่างของวัฒนธรรม ความคิด ทัศนคติของแต่ละประเทศซึ่งแตกต่างกัน   ผู้ใหญ่อาจใช้โอกาสนี้ชวนเด็กๆสังเกตุ พูดคุย ถึงจังหวัด ภูมิภาค ประเทศอื่นๆที่มีความแตกต่างจากที่ที่เราอยู่  สร้างความเข้าใจในความต่าง  นำข้อดีที่พบมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับเรา  แต่ไม่ตีตราความแตกต่างนั้น  ทั้งนี้ วิธีการพูดคุยควรใช้ถ้อยคำที่เข้าใจง่าย  ชวนคิด ชวนสังเกต เท่านั้น  ไม่ควรแสดงความวิตกกังวล  หรือประณามในข่าวที่ผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย  เพราะจะเป็นการเพิ่มความเครียดให้เด็กมากกว่าเกิดการเรียนรู้

 

ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มีความสำคัญมากขึ้นทุกวัน   สถานการณ์ COVID-19 จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ทุกคนน่าจะได้พัฒนาทักษะเหล่านี้  และเตรียมฝึกฝนให้เด็กปฐมวัยด้วย  เพราะเราน่าจะต้องใช้ทักษะนี้ในการปรับตัวอยู่ในโลกนี้ต่อไปให้ได้อย่างมีความสุข


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

เอกสารอ้างอิง

ทักษะแห่งอนาคตใหม่ : การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21. (2556). กรุงเทพฯ : โอเพ่นเวิลด์ส.

พิมพันธ์  เดชะคุปต์.  (2558).  การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21.  กรุงเทพฯ  :  โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์แห่งมหาวิทยาลัย

ไพฑูรย์ สินลารัตน์. (2557).  ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ต้องก้าวให้พ้นกับดักของตะวันตก. กรุงเทพฯ : วิทยาลัยครุศาสตร์  มหาวิทยาลัย         ธุรกิจบัณฑิตย์.

 Lee A. Scott.  (2019).  21st CENTURY LEARNING FOR EARLY CHILDHOOD. :  Battelle for Kids.

 

 

 

 

Visitors: 25,514