เด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21
เด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21
โลกในศตวรรษที่ 21 มีความแตกต่างจากศตวรรษก่อนอย่างมาก เทคโนโลยีมีความสำคัญมากขึ้น คนจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับเทคโนโลยีเป็นหลัก เด็กสามารถรับข้อมูลและข่าวสารจากทั่วโลกได้ง่าย เช่น เพลงเด็ก รายการเด็ก ที่โด่งดังในต่างประเทศ เด็กไทยก็สามารถเข้าถึงได้ในเวลาเดียวกัน ความเป็นเมืองเข้าถึงท้องถิ่นต่างๆ อาชีพการงานของครอบครัวมีความเกี่ยวพันกับเทคโนโลยีมากขึ้น เด็กจึงเติบโตขึ้นมาพร้อมกับเทคโนโลยีในชีวิตประจำวันอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้
โลกยุคใหม่มีความรู้อยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง ความรู้หาได้ง่ายและรวดเร็ว คนที่คิดเป็น เท่านั้น ที่จะสามารถเลือกความรู้ที่ถูกต้องมาใช้ได้ คนที่จำเก่ง ท่องเก่ง ไม่ใช่คนที่จะสามารถอยู่รอดในยุคนี้อีกแล้ว เพราะความรู้ที่มีอยู่ในหลักสูตรหรือตำราเรียนไม่เพียงพอที่เด็กจะนำมาใช้ในชีวิตอีกต่อไป ความรู้ใหม่ๆที่เกิดขึ้นตลอดเวลาและมีอยู่มากมายนั้นทำให้เด็กไม่สามารถท่องหรือจำทั้งหมดได้ คนที่หาความรู้เป็นและนำความรู้มาใช้เป็น จึงจะสามารถยืนอย่างสง่างามในโลกยุคใหม่
เด็กในศตวรรษที่ 21 หรือที่เรียกว่า เด็กยุคดิจิตอล (digital natives) เติบโตมากับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มาตั้งแต่เกิด โดยเฉพาะเด็กในชุมชนเมือง ตั้งแต่คลอดออกมาจากโรงพยาบาลก็เห็นจอสี่เหลี่ยมที่อยู่ในมือพ่อแม่ เลี้ยงกันไปมาแค่ไม่กี่เดือน ลูกก็รู้สึกได้ว่าจอสี่เหลี่ยมนี่ช่างน่าสนใจ ใครๆก็ชอบเอามาหลอกล่อจ่อหน้าแล้วบอกให้ยิ้ม จากนั้นก็หันจอให้ดูใครก็ไม่รู้ที่อยู่ในนั้น ทำอย่างนี้ ทุกวัน ทุกวัน
เมื่อพ่อแม่ว่างจากการก่อกวนของลูก พ่อแม่ก็มักนั่งก้มหน้าเขี่ยไปเขี่ยมาในจอสี่เหลี่ยมเล็กๆที่มีแสงสีวูบวาบ มีเสียงดึงดูด พอลูกชะโงกดูหรือคว้ามาบ้าง พ่อแม่ก็ยิ้มแย้มดีใจ เปิดให้ดูนั่นดูนี่ในจอ ยิ่งลูกชะงักงันจ้องนิ่งราวกับพบสิ่งมหัศจรรย์ แถมอยู่นิ่งไม่ไหวติง เลี้ยงง่ายเลี้ยงดาย พ่อแม่ก็ยิ่งส่งจอสี่เหลี่ยมนั้นให้เรื่อยๆ ชีวิตดำเนินต่อไป ลูกเติบโตขึ้นจนสามารถใช้จอสี่เหลี่ยมนี้เป็นภายในเวลา 2 ปี บ้านไหนเล่นบ่อยก็ใช้คล่อง ถ้าไม่มีมนุษย์อื่นใดในชีวิตให้สนใจก็จอก็อาจจะไม่สนใจใครนอกจากจอสี่เหลี่ยมนั้น รวมทั้งอาจไม่พูดกับใครอีกด้วย
ชีวิตและวิธีการเลี้ยงดูเด็กที่เปลี่ยนแปลงไป มีผลให้เด็กปฐมวัยในศตวรรษที่ 21 มีบุคลิกภาพและความคิดแตกต่างไปจากเด็กยุคก่อน เช่น ชอบความรวดเร็ว ชอบทำอะไรหลายๆแย่างพร้อมกัน ชอบภาพ เสียง วีดีโอ ชอบเรียนรู้จากสภาพที่เป็นจริง มีความหมายกับชีวิต สนุกและท้าทาย
เราทราบกันดีว่าการศึกษาระดับปฐมวัยนับเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต การปลูกฝังทักษะต่างๆจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 21 เพราะทักษะเป็นเรื่องที่ต้องลงมือเรียนรู้ด้วยตนเอง ต้องใช้เวลาฝึกฝนและทำซ้ำอยู่เป็นระยะเวลาหนึ่ง เราไม่อาจปฏิเสธว่าชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กปฐมวัยส่วนหนึ่งในประเทศไทยมิได้สอดคล้องกับการเตรียมพร้อมสู่ศตวรรษที่ 21 เท่าที่ควร ยังมีเด็กไทยอีกจำนวนมากที่มีพัฒนาการล่าช้าไม่สมวัย อันมีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดู
ในช่วงวัยที่เด็กได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัว ครอบครัวที่มีความพร้อมมักจะมีคนทำกิจวัตรประจำวันให้เด็ก เด็กไม่ต้องทำอะไรด้วยตนเองเลย ทำให้เด็กขาดโอกาสในการสื่อสาร ขาดโอกาสที่จะฝึกการริเริ่มลงมือทำ ไม่ได้ฝึกการควบคุมอารมณ์ ไม่ได้ฝึกการยับยั้งชั่งใจ เพราะเด็กคุ้นเคยกับการได้รับสิ่งที่ต้องการทันใจอยู่เสมอ
เด็กบางคนไม่เคยมีคนอ่านหนังสือให้ฟัง ไม่เคยมีประสบการณ์ในการอ่านหนังสือมาเลยในช่วงเล็กๆ พอถึงวัยที่ต้องเข้าเรียนก็ประสบปัญหาในการเรียนเพราะไม่เข้าใจนัยยะของการอ่าน ช่วงอายุก่อน 3 ขวบ เด็กเหล่านี้มักใช้เวลาไปกับดูโทรทัศน์ เล่นสมาร์ทโฟน มาตั้งแต่อายุยังไม่ครบขวบ ถ้าไม่มีเจ้าจอสีเหลี่ยมในมือแล้วล่ะก็ ลูกรักทำท่าชักแหง็กๆ แถมยังไม่สามารถอยู่นิ่งได้สักนาที แรกๆพ่อแม่ก็ลิงโลดกับสำเนียงเสียงภาษาอังกฤษที่ลูกจำมาจากวีดีโอที่เคยดูในสมาร์ทโฟน อวดใครต่อใครว่าลูกฉันนี่อัจฉริยะ แต่พอมีคนคุยด้วยลูกอัจฉริยะกลับไม่เจรจาพาที บ้างมองฟ้ามองดิน ไม่มองหน้าคนพูดด้วยเสียนี่ บ้างส่งเสียงภาษาแห่งดาวอื่นที่ไม่มีใครฟังเข้าใจ กว่าพ่อแม่จะรู้ตัว เด็กก็มีพัฒนาการไม่สมวัยเสียแล้ว พัฒนาการเป็นสิ่งที่ตรงไปตรงมาเสียด้วย เพราะจะพัฒนาไปเป็นลำดับขั้นเท่านั้น
พอโตจนถึงวัยที่เข้าสู่สถานศึกษาก็ต้องใช้ชีวิตอยู่กับการจัดการเรียนรู้ในห้องเรียนรูปแบบที่เด็กเป็นผู้รับ (Passive Learning) เพียงอย่างเดียวอีก วันๆไม่ได้ทำอะไร นั่งกอดอก หลังพิงฝา อมมะนาว เพราะครูห้ามพูด ห้ามเคลื่อนไหวไปไหน ก็จะให้เคลื่อนไปได้อย่างไร สถานศึกษาปฐมวัยส่วนใหญ่ มีเด็กห้องหนึ่งๆเฉลี่ย 30-40 คน มีครู 1-2 คน แถมผู้ปกครองก็ยอมรับไม่ค่อยได้กับริ้วรอยใดๆที่เกิดขึ้นในห้องเรียน โยงใยไปถึงข่าวสารสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวครูโหด เด็กถูกทำร้าย ไม่เว้นแต่ละวันอีก สร้างความสยองขวัญสั่นประสาทให้ทั้งผู้ปกครองและครู ดังนั้นวิธีป้องกันตัวเองแบบง่ายของครูก็คือ “เจ้าจงอยู่นิ่งๆเถิด”
ทั้งที่ในความเป็นจริงเด็กปฐมวัยยุคดิจิตอลของเราจะสนุกสนานมากกับเรียนรู้ที่ได้เคลื่อนไหว ได้ลงมือทำสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิต ครูปฐมวัยส่วนหนึ่งก็ยังยึดติดในกรอบการสอนรูปแบบที่ทำให้เด็กทุกคนเหมือนกัน อาจจะด้วยประสบการณ์ในการเป็นนักเรียนของครู ด้วยความเข้าใจคลาดเคลื่อน หรืออะไรก็ตามแต่ การทำกิจกรรมหรือผลงานใดๆก็ตามยังออกมาในลักษณะที่เหมือนๆกันและเป็นการล็อคคำตอบเอาไว้แล้ว กับอีกแบบคือ ครูเข้าไปชี้แนะครอบงำจนเด็กยึดติดว่าทำแบบที่ครูบอกหรือทำให้ดูเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เด็กที่อยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ นานวันเข้าก็จะไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำ และไม่มั่นใจในตนเองไปในที่สุด
ครูบางคนชอบห้องเรียนที่เงียบๆนิ่งๆ หลายครั้งที่ผู้เขียนนำกิจกรรมใหม่ๆไปให้ครูทดลองใช้ ก็จะสังเกตพบว่าหากกิจกรรมใดที่ผู้เรียนได้เคลื่อนไหวมากๆ สนุกมากๆ เช่น กิจกรรมการอ่านไปเล่นไป มีการโยนบอลไปมาเป็นจังหวะระหว่างอ่านนิทาน ครูบางท่านจะรู้สึกขัดใจทันที “แบบนี้เด็กก็วุ่นวายหมดน่ะซี” ครูจำนวนไม่น้อยที่ยังยึดติดว่าครูคือผู้คุมห้องเรียน และห้องเรียนที่ดีคือห้องเรียนเงียบสงบเท่านั้น
เด็กปฐมวัยของไทยส่วนหนึ่งมีชีวิตเช่นนี้มานานแสนนาน เด็กขาดโอกาสคิด ขาดโอกาสในการลงมือทำ ไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาพออายุ 6ขวบไปแล้วก็เลยช่วงเวลาทองของชีวิตที่พัฒนาการเจริญงอกงามไปแล้วต่อให้ไปเร่งในช่วงประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาก็ดูจะยากเย็นเหลือเกิน
น่าจะถึงเวลาแล้วที่เราต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กๆใช้ชีวิตอยู่ในโลกศตวรรษที่ 21 ให้ได้