ไม่ต้องห่วง..ถ้าเด็กขี้หวง
ไม่ต้องห่วง....ถ้าเด็กขี้หวง
ช่วงเวลานี้เด็กจะเริ่มมีประสบการณ์เกี่ยวกับตัวเองผ่านการแสดงความเป็นเจ้าของเพื่อให้ตัวเองรู้สึกมั่นคงปลอดภัย การสนใจแต่ตัวเองในวัยนี้ไม่ได้เป็นสัญญาณว่าโตขึ้นจะกลายเป็นผู้ใหญ่เห็นแก่ตัว หลังจากผ่านช่วงเวลานี้ไปแล้วเด็กจะแสดงความเคารพต่อผู้อื่นได้เอง เพราะเด็กจะมีภาพตัวตนที่ชัดเจน จนอนุญาตให้คนอื่นเข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมของเขา ในทางกลับกัน เด็กที่ถูกบังคับให้แบ่งก่อนเวลาอันควรอาจกลายเป็นผู้ใหญ่ที่หวงของและเห็นแก่ตัว
องค์ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กจึงกล่าวว่าการแสดงความเป็นเจ้าของคือพัฒนาการที่เหมาะสมสำหรับเด็กวัยนี้ แต่ผู้ใหญ่ก็จำเป็นต้องฝึกหัดขัดเกลาให้เด็กก้าวผ่านพัฒนาการนี้ไปได้ด้วยดี เช่น
- เน้นย้ำในสิ่งที่เป็นของเด็ก
- ตั้งข้อจำกัดว่าสิ่งใดเป็นของเด็ก และ สิ่งใดที่ไม่ใช่
- บอกให้เด็กรู้จักเคารพผู้อื่น เช่น แลกของเล่นกัน
- มีพื้นที่ที่เด็กเป็นเจ้าของได้ เช่น เก้าอี้ ที่นอน ห้อง
- ต้องช่วยเด็กปกป้องสิทธิของตน เช่น ถ้าถูกแย่งของไปต้องจัดการช่วยนำมาคืนหรือหาชิ้นใหม่ให้ อย่าบังคับให้เด็กต้องแบ่งหรือถูกแย่งตลอดเวลา
- อนุญาตให้เด็กเป็นเจ้าของบางสิ่งชั่วคราว และ ให้เกิดความเข้าใจว่าของบางอย่างเป็นของสาธารณะที่เราไม่อาจเป็นเจ้าของตลอดเวลาได้ เช่น นั่งชิงช้าและแกว่งไปมา 10 ครั้ง แล้วเปลี่ยนให้คนอื่นเล่นบ้าง
- ถ้าทำกิจกรรมเป็นกลุ่ม เด็กต้องมีอุปกรณ์ของตนเอง เพื่อเรียนรู้การทำกิจกรรมร่วมกันกับผู้อื่นทีละน้อย
- อย่ากังวลกับการที่เด็กหวง หรือ แย่ง
- เมื่อเด็กแบ่งปัน หรือ มีพฤติกรรมที่เหมาะสม ต้องรีบส่งเสริมทันที
ในทุกช่วงของพัฒนาการ มักจะมีช่วงหนึ่งที่ดูเหมือนจะคล้ายเป็นปัญหา เป็นอุปสรรค หรือ ดูถดถอย แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเข้าใจพัฒนาการตามช่วงวัย ส่งเสริมอย่างเหมาะสม ช่วงเวลาที่ดูเป็นปัญหานั้น จะกลับกลายเป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้เด็กมีพัฒนาการที่เหมาะสมและก้าวหน้า