เมื่อเด็กเอาแต่ใจ


เด็กอายุ 1-3 ปี มักเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเองมากจนเข้าข่ายเอาแต่ใจ เด็กจะแสดงพฤติกรรมต่างๆมากมายเพื่อทดสอบดูว่าตัวเองมีอำนาจในการควบคุมสถานการณ์และบุคคลต่างๆมากน้อยเพียงใด หากการกระทำใดที่เด็กทำแล้วได้รับผลเป็นที่พอใจ เด็กมักจะแสดงพฤติกรรมนั้นซ้ำอีก เช่น นอนชักดิ้นชักงอกับพื้นแล้วได้สิ่งที่ต้องการ ร้องไห้ตะโกนแล้วมีคนมอง ตีหน้าผู้ใหญ่แล้วได้รับการสนใจ กระโดดกระทืบเท้าที่ร้านขายของแล้วได้ขนมหรือของเล่น ร้องไห้เมื่อถึงหน้าโรงเรียนแล้วได้กลับบ้าน ร้องไห้เมื่อมีคนมาคุยหรือเล่นด้วยแล้วผู้ใหญ่อุ้มออกจากสถานการณ์ แย่งของเล่นพี่แล้วแม่ดุพี่ก็เลยแย่งทุกครั้ง เด็กมีแนวโน้มจะทำพฤิตกรรมเหล่านี้ซ้ำอีกเพราะรู้สึกพอใจกับสิ่งที่ผู้ใหญ่ตอบสนอง เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นพร้อมๆกับอารมณ์ที่หลากหลายในวัยนี้

 

สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรส่งเสริมเด็กมากที่สุดคือทำให้เด็กรู้ว่าควรแสดงออกทางอารมณ์อย่างไรหรือควรแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสมอย่างไร การตอบสนองเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นโอ๋ ดุ ตี ก็ตาม  เด็กถือว่าผู้ใหญ่ได้ตอบสนองและสนใจเขาแล้วทั้งสิ้น  ในบางโอกาส การเพิกเฉยต่อพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ก็เป็นสิ่งที่อาจจำเป็นต้องทำเพื่อให้เด็กเรียนรู้ว่าการกระทำของเขาไม่มีอิทธิพลใดๆต่อบุคคลรอบข้าง

 

การเล่นหรือทำกิจกรรมกับผู้อื่น  จะช่วยให้เด็กเรียนรู้การทำตามกติกา ข้อตกลงที่จะนำไม่สู่การแสดงออกทางพฤติกรรมที่เหมาะสม   เมื่อใดที่พบว่าเด็กแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสม  ผู้ใหญ่ต้องไม่ให้โอกาสในการเล่นหรือทำสิ่งที่เด็กต้องการ  ช่วงแรกๆเด็กอาจชักดิ้นชักงอไม่พอใจ  การเพิกเฉยของผู้ใหญ่จะช่วยให้เด็กสงบได้เร็วขึ้น   เมื่อเด็กสงบแล้วจึงค่อยอธิบายให้เด็กเข้าใจข้อตกลงนั้นด้วยคำง่ายๆแต่มีเหตุผล เช่น  "หนูผลักเพื่อนแสดงว่าหนูไม่อยากเล่นกับเพื่อน ตอนนี้ทุกคนกำลังเล่นด้วยกัน ถ้าหนูไม่อยากเล่นกับเพื่อน หนูก็ต้องนั่งพักผ่อนก่อน"   "หนูร้องไห้เสียงดัง หนูจึงยังกินขนมไม่ได้ เพราะขนมอาจติดคอ ตอนนี้หนูไม่ร้องไห้แล้ว เรามากินขนมกันเถอะ"     

 

ในห้องเรียนอนุบาล  อาจยับยั้งความเอาแต่ใจได้ดีกว่าที่บ้าน  เพราะเด็กสนิทกับครอบครัวมากกว่า  และในห้องเรียน  คุณครูจะใช้กระบวนการกลุ่ม  การที่เด็กเห็นเพื่อนที่แสดงพฤติกรรมเหมาะสมได้รับโอกาสในการเล่นหรือได้รับคำชม  เด็กก็จะเรียนรู้ว่าควรแสดงออกอย่างไรเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ   หากเด็กแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมซึ่งคุณครูยุติโอกาสในการทำกิจกรรมไปแล้ว  เมื่อครูสังเกตว่าเด็กเริ่มรับรู้  ครูต้องอาศัยโอกาสนี้ดึงเด็กกลับเข้าสู่กิจกรรมปกติทันที  เช่น อยากเล่นกับเพื่อนหรือยัง ถ้าอยากเล่นกับเพื่อน ผลักเพื่อนได้ไหม เมื่อเด็กตอบคำตอบที่เหมาะสมแล้ว  ต้องรีบอนุญาตให้เด็กเล่นในกลุ่มโดยไว และรีบชมทันที เพื่อให้พฤติกรรมที่เหมาะสมนั้นคงอยู่  เช่น "โอ้โห..เล่นกับเพื่อนสนุกจัง"  "เล่นถูกต้อง น่ารักจังเลย"  "ยิ้มหวาน  ไม่ร้องไห้ น่ารักจัง"  โดยไม่ต้องกลับไปย้อนกล่าวถึงพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อีก  

 

การปรับพฤติกรรมเด็กด้วยวิธีเช่นนี้ จะทำให้พฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ค่อยๆเลื่อนหายไป และ เกิดพฤติกรรมที่พึงประสงค์แทน โดยไม่ทิ้งรอยแผลในใจเด็ก

 



Visitors: 22,054