เด็กร้องไห้เมื่อไปโรงเรียน
เด็กร้องไห้เมื่อไปโรงเรียน
ในยามที่เด็กหวั่นไหว ผู้ใหญ่ต้องเป็นหลักมั่นให้เด็กพึ่งพา
เด็กอายุ 1-3 ขวบ เกือบทุกคนมักจะร้องไห้เมื่อเข้าเรียนช่วงแรก บางครั้งก็ยังพบว่าเด็กอายุ 2 ขวบที่อยู่เนอร์สเซอรี่มาตั้งแต่เล็กไม่เคยร้องไห้เลยแต่เพิ่งมาร้องไห้ตอนแยกจากพ่อแม่เมื่ออายุ 2 ขวบก็มี บางคนหยุดเรียนไปหลายๆวัน พอกลับมาเรียนใหม่แล้วร้องไห้ก็มี
พฤติกรรมเหล่านี้เป็นไปตามธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กปฐมวัย ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านจึงส่งเสริมให้แม่เลี้ยงดูเด็กเองจนพ้นช่วงปฐมวัย แต่ในสภาพสังคมปัจจุบัน การทำเช่นนั้นเป็นไปได้ยากเหลือเกิน ดังนั้นเพื่อให้การพรากจากกันกระทบกระเทือนพัฒนาการและจิตใจน้อยที่สุด จำเป็นที่พ่อแม่และครูต้องทำความเข้าใจพัฒนาการและช่วยเหลือเด็กให้ก้าวผ่านช่วงวิกฤตไปได้
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเด็กอายุ 1 -3 ขวบ ยังเป็นวัยที่ยังยึดมั่นอยู่กับแม่ แม่กับเด็กเหมือนเป็นชีวิตเดียวกัน จนเมื่ออายุ 3 ขวบแล้วเด็กจะเริ่มเป็นอิสระมากขึ้น ถึงเวลาที่สองชีวิตต้องแยกจากกัน แม่ต้องรู้ว่าลูกเป็นชีวิตคนละชีวิตกับแม่ และ เด็กก็ต้องรู้ว่าเขาไม่ใช่ชีวิตเดียวกับแม่อีกต่อไป การกลัวการพรากจากนับเป็นกลไกธรรมชาติที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้กระบวนการสร้างตัวตน (Separation Individuation) นั้นสมบูรณ์
เด็กมักมีพฤติกรรมที่กึ่งอยากพึ่งพาผู้ใหญ่กึ่งอยากอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่อยากจากพ่อแม่ก็จริงแต่ก็ไม่ใช่ไม่อยากสนใจกิจกรรมหรือประสบการณ์ใหม่ๆ เราจึงพบได้บ่อยๆว่าเด็กมักร้องไห้ตอนแยกจากพ่อแม่ แต่พอไม่เห็นพ่อแม่ก็ร่าเริงเป็นคนละคน ความกังวลในการพรากจาก (Seperation Anxiety) นี้ก็ปรากฏที่บ้าน เช่น เด็กมักจะเดินออกห่างๆผู้ใหญ่พักหนึ่ง เดี๋ยวก็วิ่งไปดูว่าผู้ใหญ่ยังอยู่ไหมแล้วก็กลับมาเล่นต่อ เมื่อพ้นวัยเด็กตอนต้นไปแล้วเด็กจะคลายความสนใจพ่อแม่ลงและไปสนใจบุคคลอื่นแทน เด็กจะไม่อาลัยอาวรณ์กับการแยกจากพ่อแม่อีกต่อไป ถึงยามนั้นจะง้องอนให้ลูกสนใจพ่อแม่เมื่อไปส่งที่โรงเรียน ลูกก็ไม่สนใจอีกแล้ว เพราะเขาขยายความสนใจไปที่บุคคลอื่นนอกครอบครัวแล้ว
วิธีการที่จะให้ความช่วยเหลือเด็กในช่วงเวลาวิกฤตนี้ คือ พ่อแม่ต้องเป็น “พ่อแม่ที่ตั้งหลักมั่น” ด้วยท่าที แววตาและคำพูดที่ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกดีต่อการแยกจากกัน เด็กสามารถรับรู้ความรู้สึกของแม่ได้ดีไม่ต่างไปจากเมื่ออยู่ในครรภ์ ยิ่งเด็กพูดไม่ได้ก็ยิ่งมีความสามารถในการรับสารจากบุคคลอื่นด้วยการสังเกตแววตา สีหน้า และฟังคำพูดเข้าใจมากขึ้นเท่านั้น อยากให้ลูกแยกจากแม่ไปอยู่กับครูได้ แม่ต้องมั่นใจครู ไม่เอาแต่จับผิดคิดร้าย เช่น หยุดเรียนไปหลายวัน เมื่อลูกกลับไปเรียนแล้วร้องไห้ก็นึกว่าเป็นปัญหาทันที "คุณครูคะ น้องมีปัญหาอะไรที่โรงเรียนหรือเปล่าคะ ร้องไห้ไม่อยากมาเรียนเลย" การคิดและพูดแบบนี้ปัญหาที่ไม่ได้มีก็จะมีขึ้นมาทันที
ดังนั้น ถ้าอยากให้ลูกมาเรียนอย่างร่าเริง ต้องชมลูกทุกวันว่า "เก่งจัง ยิ้มหวานเชียว" แม้เด็กจะมีน้ำตาหยดก็ตาม ไม่ใช่ทักทายครูต่อหน้าลูกทุกเช้าว่า "เป็นอะไรไม่รู้ ร้องไห้ทุกวัน ไม่อยากมาเรียนเลย" ยิ่งพูดลูกก็ยิ่งรับรู้ได้ว่าต้องร้องไห้มากขึ้น เหมือนกับคำโบราณว่า "พรจากปากพ่อแม่" อยากให้เด็กเป็นอย่างไรต้องพูดอย่างนั้น รวมทั้งต้องให้เวลาเด็กในการปรับตัว มีเด็กจำนวนน้อยมากที่จะสามารถร่าเริงในสัปดาห์ที่ 2 ทันที บางคนใช้เวลานานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูดั้งเดิมและบุคลิกภาพของเด็กด้วย
ส่วนคุณครู ต้องเป็น “ครูที่เมตตา” ช่วยให้เด็กถ่ายโอน “แม่” มาไว้ที่ “ครู” เมื่ออยู่ที่โรงเรียน ครูต้องเป็นแม่ของเด็กแทน ในวันแรกๆ เด็กไม่อาจทำใจได้ว่าแม่จะมีลูกหลายคน เพราะตลอดชีวิตที่ผ่านมาแม่เป็นของเขาคนเดียว การเปิดเทอมใหม่แล้วมีเด็กนั่งร้องไห้ทั้งห้องโดยที่ครูไม่สามารถเข้าไปเป็นแม่ของเด็กได้อย่างทั่วถึง การอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมท่ามกลางเด็กร้องไห้หลายๆคนถือเป็นเรื่องชวนขนหัวลุกสำหรับเด็กมาก แม้เด็กจะหยุดร้องไห้ไปแล้วแต่ความทรงจำนี้ก็อาจจะฝังใจเด็กไปจนโต ผู้เขียนจึงไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเปิดเทอมรับนักเรียนใหม่พร้อมๆกันทั้งห้อง วิธีที่ใช้อยู่ที่บ้านรักเนอร์สเซอรี่สคูล คือ ทยอยรับนักเรียนใหม่ครั้งละ 1-2 คนแล้วจัดครูเข้าไปประกบนักเรียนใหม่ ทำตัวเสมือนเป็นแม่ เพื่อให้เด็กถ่ายโอน “แม่” มาไว้ที่ “ครู”โดยไว แม้การร้องไห้เมื่อแยกจากแม่ตัวจริงจะยังมีอยู่ในช่วงเช้า แต่แม่สมมุติคนนี้จะทำให้เด็กใช้ชีวิตอย่างมั่นใจ รู้สึกปลอดภัยเมื่อแม่ตัวจริงไม่อยู่ กระบวนการสร้างตัวตน (Separation Individuation) ก็จะค่อยๆดำเนินไป ในที่สุดเด็กก็แยกเป็นอิสระจากแม่ได้ทั้งแม่ตัวจริงและแม่สมมุติโดยไม่กระทบกระเทือนหัวใจเด็กมากนัก
บางครั้ง อาจต้องมีตัวช่วยเป็นสิ่งของอื่นๆ เช่น ขวดนม ตุ๊กตา หมอนข้าง ผ้าอ้อม โปรดอนุญาตให้เด็กนำมาในช่วงแรก เพราะมี “แม่” อยู่ในของเหล่านั้น ไม่ควรเอาแม่ของเด็กไปทิ้ง อย่ายึดแม่ของเด็กไป ด้วยการบังคับให้ครูเลิกขวดนมให้ลูก เมื่อถึงเวลาที่พร้อม เด็กจะลืมของเหล่านั้นเอง เช่น วางผ้าอ้อมทิ้งไว้ที่มุมห้องแล้วตัวเองก็ไปเล่นกับเพื่อน ดื่มนมจากกล่องหมดแล้วนอนหลับได้ดี นี่คือสัญญาณที่บอกว่าไม่ต้องใช้ “วัตถุแทนแม่” (Imaginary Companion) แล้ว ทั้งนี้ เด็กอาจจะยังใช้ของเหล่านั้นที่บ้านต่อไป ก็โปรดอนุญาตให้เด็กใช้ แค่เพียงเด็กมั่นใจว่าเวลาออกไปข้างนอก ไม่ต้องพกแม่ไปด้วยแล้วก็เพียงพอ
การจัดการกับการพรากจากแม่อย่าง “มั่นคงแต่นุ่มนวล” จึงเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิตของเด็ก เด็กที่มั่นใจในความรักของแม่ รู้สึกปลอดภัยในการใช้ชีวิตอิสระ จะผละตัวเองออกไปเข้ากลุ่มกับเด็กได้เองโดยไม่พะวงพึ่งพาผู้ใหญ่ หรือ มีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจจากผู้ใหญ่ เพราะเขาอิ่มในรัก มั่นใจในการมีตัวตนที่อิสระแล้ว เห็นได้ง่ายจากการร้องไห้ตอนเช้าที่หายไป ระหว่างวันร่าเริง อยากทำสิ่งต่างๆด้วยตนเอง อยากเรียนอยากรู้อะไรใหม่ๆ
ท้ายที่สุด แม่ต้องรู้ว่าคนอื่นก็คือคนอื่น ไม่สามารถทดแทนแม่ได้ และช่วงเวลาสำคัญที่สุดในชีวิตเด็กคือ แรกเกิด ถึง 6 ขวบ เด็กต้องการความผูกพันใกล้ชิดที่จะทำให้เด็กไว้วางใจโลกใบนี้ เมื่อเด็กเติบโตขึ้นไป สายใยความไว้วางใจที่แม่เคยมีให้ตอนเป็นทารกจะยึดเหนี่ยวเด็กไว้ตลอดกาล แม้ต้องพรากจากกันบ้างบางเวลา แม่ก็ต้องหาเวลาทำให้สายสัมพันธ์นั้นเข้มแข็งเพื่อเก็บสายใยไว้ดึงลูกกลับมาในยามที่ลูกออกนอกลู่นอกทางไปในอนาคต เราสร้างสายสัมพันธ์เข้มแข็งง่ายๆด้วยการอาบน้ำให้ลูก กินข้าวด้วยกัน อ่านนิทานให้ฟัง ชวนลูกทำงานบ้าน กล่อมลูกนอน จึงไม่ควรโยนกิจกรรมล้ำค่านี้ไปให้คนอื่น