ชวนเด็กๆ ทำงานบ้าน เพื่อสร้างพื้นฐานให้ชีวิต
ชวนเด็กๆทำงานบ้าน
เพื่อสร้างพื้นฐานให้ชีวิต
ช่วงก่อน 6 ขวบ เด็กๆพัฒนาความสามารถในการกำหนดเป้าหมายด้วยการเล่นและการดูแลเรื่องง่ายๆของตัวเอง เช่น กินเอง นอนเอง เข้าห้องน้ำเอง ถือกระเป๋าเอง เก็บของใส่กระเป๋าเอง พอพ้น 6 ขวบแล้ว เป้าหมายของเด็กควรจะขยายไปสู่การดูแลบริเวณรอบๆตัว เช่น กวาดบ้าน ล้างจาน ตากผ้า ก้าวหน้าไปกว่านั้น คือ การเริ่มคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและพื้นที่สาธารณะ
เด็กๆสามารถฝึกฝนการดูแลตนเองและสิ่งรอบๆตัวได้ตั้งแต่ก่อน 6 ขวบ โดยเริ่มฝึกจากเรื่องง่ายๆที่สามารถทำได้ตามความเหมาะสมของวัย เช่น เอาจานไปเก็บในอ่างล้างจาน ช่วยเด็ดผัก เอาขยะไปทิ้ง เก็บใบไม้แห้งในสวน เรียงรองเท้าของทุกคนในบ้านให้เรียบร้อย ช่วยยกของที่ซื้อมาไปเก็บ
การทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆที่เหมือนเป็นการเล่นของเด็กจะช่วยฝึกเด็กได้มาก เด็กจะมีโอกาสพัฒนาความสามารถการกำหนดเป้าหมายด้วยการทำงาน ในการทำงานแต่ละอย่าง เด็กต้องคิดว่าจะทำอะไรก่อนหลัง ต้องควบคุมตัวเองให้รับผิดชอบทำงานนั้นให้สำเร็จ ไปจนถึงการฝึกฝนการแก้ปัญหาเมื่อพบเจออุปสรรค งานบางงานก็สนุก บางงานก็ไม่สนุกและไม่อยากทำ แต่ก็ได้เรียนรู้ที่จะทำจนสำเร็จ เบื้องหลัง ความสำเร็จนั้นคือความอิ่มเอมใจ ความภูมิใจ ความมั่นใจ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต
ในชีวิตการทำงานจริง คนเราก็ต้องอาศัยทักษะนี้ ถ้าตอนเด็กๆเอาแต่นั่งเรียนหนังสือ ทำแต่แบบฝึกหัด ตระเวณเรียนพิเศษ ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรแม้กระทั่งเรื่องของตัวเอง ไม่ต้องพยายามเมื่อเจอสิ่งที่ยากหรือไม่อยากทำ เด็กเหล่านี้จะขาดโอกาสเรียนรู้ชีวิต แต่กลับมีโอกาสกลายเป็นคนไม่มีทักษะชีวิต ทำอะไรไม่สำเร็จ ไม่รู้จักวางแผน ท้อง่าย ไม่ยืดหยุ่นปรับตัว ล้มแล้วลุกไม่เป็น ควบคุมอารมณ์และการกระทำของตนเองไม่ได้ สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนจากเรื่องเล็กไปสู่เรื่องใหญ่ เรื่องง่ายไปสู่เรื่องยาก ถ้าไม่ได้ฝึกในเรื่องเล็กๆง่ายๆมาก่อน การจะก้าวหน้าไปสู่เรื่องใหญ่ๆ ยากๆ นั้นก็ลำบากมากขึ้น
ที่สำคัญ ผู้ใหญ่ต้องเข้าใจว่า การฝึกฝน คือ การฝึกฝน ย่อมมีความผิดพลาดและไม่สมบูรณ์แบบ อย่าหงุดหงิดกับความไม่สมบูรณ์แบบนั้น เด็กอาจพลาดทำจานตกแตก ทำน้ำหกตลอดทาง รองเท้าวางสลับข้างจนหาไม่เจอ ผักช้ำเพราะเด็ดแรงไป
การฝึกให้เด็กทำงานบ้านง่ายๆจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะสิ่งทีได้กลับมา มิใช่แรงงานเด็ก แต่เป็นเด็กที่มีแรงบันดาลใจในการทำสิ่งต่างๆ การที่เด็กทำงานบ้านร่วมกับผู้ใหญ่บ่อยๆ เด็กจะคุ้นเคยจนรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมหนึ่งของชีวิต เมื่อเด็กทำได้ดีแล้ว ผู้ใหญ่สามารถเพิ่มระดับความรับผิดชอบขึ้นมาโดยมอบหมายให้เป็นหน้าที่
“การเรียนคือการรู้ชีวิต” เพราะวิชาชีวิตจะช่วยประคองชีวิต หากยังดูแลตัวเองไม่ได้ก็จะเอาตัวรอดไม่ได้ คงยากเหลือเกินที่จะสร้างอนาคตของตัวเองได้ และเรื่องนี้ สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวิชาการ