โลกที่ต่างกันของเด็กกับผู้ใหญ่

พัฒนาการทางภาษาของเด็กวัยอนุบาล  อายุ 4-6 ขวบ  มีความก้าวหน้ามากขึ้น  เด็กจะเริ่มเล่าเรื่องราวต่างๆได้ดีขึ้นมาก  เริ่มเลือกใช้คำมาเรียงประโยคเพื่อสื่อความหมายต่างๆได้ดีขึ้น  ช่างซัก ช่างถาม และช่างพูดเป็นพิเศษในช่วงวัยนี้  ในทุกๆกิจกรรม  เด็กมักจะพูดไปด้วยทำไปด้วย บางครั้งอาจดูเหมือน  "คิดเสียงดัง"   คิดอะไร รู้สึกอะไร ทำอะไร ก็จะบรรยายออกมา   และพฤติกรรมที่พบได้เมื่อเด็กเข้าสู่วัยนี้ คือ การเล่าเรื่องราวที่เกินจริง หรือ ไม่จริงบ้าง  ทำนอง  “ช่างโม้” 

 

ตัวอย่าง  (เรื่องเล่าของเด็ก)

-          ฝนตก  เพราะท้องฟ้าเสียใจ 

-          หนูมีน้ำมูก   เพราะว่าหนูดื้อ

-          เพื่อนไม่ให้ของเล่น  เพราะหนูคุยเก่งเกินไป

-          ถ้าพ่อได้ตุ๊กตา  พ่อต้องดีใจ  

-          เพื่อนแกล้ง  (เพื่อนแค่จับแขน)

           เพื่อนเอานิ้วจิ้มตา  (เพื่อนแค่ชี้มา)

-          ครูตีหัว (ครูแค่สัมผัสเมื่อเด็กเดินผ่านทีละคน)

-          วันนี้เพื่อนเอามีดมาหั่นขา  หั่นอย่างนี้ๆ

-          อาหารที่โรงเรียนร้อนมากๆ ปากพองเลย

-          เพื่อนไม่มาโรงเรียน  เพราะไปโรงพยาบาลกันหมด

-          พ่ออ้วนมาก พุงป่องมาก  กินข้าววันละ 50 จาน 

-          แม่ไปเอาน้องออกจากท้องมา  น้องหนูเดินออกมาจากท้องแม่เลย

-          ที่โรงเรียนมีท่อน้ำที่ดูดเด็กไปตั้งหลายคนแล้ว

-          ฝนตก น้ำท่วม ต้องนั่งเรือดำน้ำเข้าบ้าน

-          วันนี้ เพื่อนเข้าห้องน้ำกันทั้งวันเลยนะ หนูยังไม่ได้เข้าเลย

-          คุณครูไม่ให้เพื่อนกลับบ้าน นอนที่โรงเรียนกันหมด จนฟ้ามืด

-          แม่พาไปสวนสัตว์มา เกือบโดนเสือจับกิน เกือบไม่ได้มาเรียนแล้วเนี่ย

 

เมื่อทุกเรื่องราวเรียงกัน  อาจพอเดาได้ว่าไม่มีเรื่องใดจริงเลยสักเรื่อง   แม้จะมีเค้าเรื่องจริงอยู่ก็ตาม   แต่ถ้าเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นเดี่ยวๆ  บางเรื่อง อาจกลายเป็นปัญหาทันที  ถ้าผู้ใหญ่ที่ฟัง ไม่ตั้งสติให้ดี

 

การที่เด็กเล่าเรื่องราวปะปนจินตนาการเช่นนี้  ไม่ใช่เพราะเด็กโกหกแต่อย่างใด  แต่เป็นเพียงพฤติกรรมหนึ่งที่ปรากฏได้ในช่วงวัยนี้ อันเนื่องมาจากการที่เด็กยังไม่มีความคิดเป็นเหตุผลเพียงพอ  และมักมีมุมมอง  มีความคิด  มีความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งต่างๆโดยใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง  ซึ่งเป็นวัยที่ เพียเจต์ ใช้คำว่า Preoperation Thinking  คือ วัยก่อนที่คิดเป็นเหตุเป็นผลได้นั่นเอง   ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ผู้ใหญ่ต้องช่วยเด็กๆให้ก้าวผ่านพัฒนาการช่วงนี้ไปสู่ช่วงวัยต่อไปให้ได้อย่างดีที่สุด 


 

อันดับแรก ต้องเข้าใจว่าพฤติกรรมนี้เป็นพัฒนาการตามวัย  เพราะเด็กมีพัฒนาการทางภาษาที่ก้าวหน้าขึ้น  จึงอยากพูด อยากคุย  กับคนที่เขาไว้ใจ  เพื่อฝึกปรือการใช้ภาษาและสร้างความสัมพันธ์กับคนที่เขารัก   (ถ้าไม่ไว้ใจ ไม่รัก เขาจะไม่ค่อยพูดด้วย)   ถ้าสังเกตเด็กให้ดีจะพบว่าหัวข้อการสนทนาเริ่มกว้างขวางออกไป    เปลี่ยนจากการสนใจแต่ตัวเองในช่วงก่อนหน้านี้  เป็นการเริ่มสนใจบุคคลและสิ่งต่างๆรอบตัว   เริ่มพูดถึงเรื่องที่ผ่านไปแล้วมากกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนั้น  เพราะพัฒนาการของเด็กก้าวหน้าไปแล้ว   ในช่วงเตรียมอนุบาลจะพูดได้เพียงสิ่งที่เห็น  เมื่อเข้าสู่อนุบาลจะเริ่มพูดถึงสิ่งที่ไม่เห็นตรงหน้ามากขึ้น   

 

เราจึงพบว่าเด็กอนุบาลมีเรื่องเล่าต่างๆมาเล่าให้ฟังอยู่เสมอ  อยู่บ้านเล่าเรื่องที่โรงเรียน  อยู่โรงเรียนเล่าเรื่องที่บ้าน  ถ้ามีเพื่อนร่วมบทสนทนานั้นด้วย  เรื่องหนึ่งอาจกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่งได้ทันที  เพราะเด็กไม่ได้สนใจว่าใครพูดอะไร หรือต้องการฟังคำตอบอะไร  เพราะเขาสนใจแต่สิ่งที่เขาอยากจะพูดเท่านั้น  เช่น   

เด็กคนหนึ่งพูดว่า “อาหารร้อนมาเลยเลย ปากพองแล้วเนี่ย”  

เพื่อนได้ยินก็พูดต่อว่า “ร้อนก็เปิดพัดลมสิ”  

อีกคนต่อว่า “แดดร้อนเหมือนอยู่ชายหาด”  

อีกคนเสริมว่า  “เดี๋ยวแม่จะพาไปเชียงใหม่  ไปหายาย”   

 

จากเรื่อง อาหารร้อน กลายเป็นเรื่อง ไปเชียงใหม่ ได้ในเพียงมีครู่เดียว   เด็กกำลังคุยเรื่องเดียวกัน แต่อาจดูเหมือนไม่ใช่เรื่องเดียวกันในมุมมองของผู้ใหญ่   มุมมองของเด็กกับมุมมองของผู้ใหญ่จึงต่างกัน   ในเรื่องมุมมองที่แตกต่างนี้เอง   สามารถสังเกตได้จากภาพวาดของเด็ก   ภาพของเด็กมักมีความจริงอยู่  แต่ก็มีจินตนาการผสมปะปนอยู่ด้วย  แบบที่ผู้ใหญ่ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้  เพราะมีความสามารถด้านนี้ต่ำกว่า    ผู้ใหญ่เห็นแต่สิ่งที่เป็นจริง  แต่เด็กเห็นอะไรที่มากกว่านั้น

 

 

อันดับที่สอง  เมื่อทราบแล้วว่ามุมมองของเด็กและมุมมองของผู้ใหญ่ต่างกัน  เมื่อผู้ใหญ่เป็นผู้ฟัง  ต้องฟังในมุมมองของเด็ก  แต่ต้องประคองสถานการณ์ด้วยมุมมองของผู้ใหญ่  อย่าเพิ่งรีบมีอารมณ์ร่วม  อย่ารีบกระโจนลงไปอยู่ในเรื่องเล่าของเด็ก   อย่ารีบกระวีกระวาดจัดการเพียงเพราะสิ่งที่ได้ยิน   เรื่องอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้นทุกคำ  เพราะเราเป็นผู้ใหญ่นี่เอง  จึงต้องมีสติและมีวุฒิภาวะมากกว่า    เมื่อเด็กเล่าเรื่องราวใดๆ  ต้องฟัง  แต่ฟังแล้วชวนเด็ก คิด คุย ไปในทางที่ดีงาม  เป็นแบบอย่างในการแก้ปัญหาอย่างนุ่มนวล   และอาศัยโอกาสในช่วงนี้สร้างความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่น   

 

เมื่อพ้น 10 ขวบไปแล้ว  เด็กจะเริ่มขยายความสนใจไปสู่เพื่อนในวัยเดียวกันมากกว่า  เขาจะไม่ค่อยคุยหรือเล่าเรื่องราวให้ครูหรือพ่อแม่ฟังเหมือนในช่วงปฐมวัยอีก    ในช่วงปฐมวัยนี้   ครูและพ่อแม่จึงต้องเป็นผู้ฟังที่ดี  เป็นเพื่อนคุย และประคองลูกไปในทางที่ดีงามโดยไม่มุ่งสั่งสอนจนเกินไป   ถ้าเรื่องใดที่ไม่กระทบใครและเป็นเรื่องสนุกก็ต้องสนุกสนานร่วมกันไป   เป็นการช่วยเตรียมเด็กให้เข้าสู่วัยที่มีความคิดเป็นเหตุเป็นผล  ที่เพียเจต์เรียกว่า  Concrete Operations 

 

ในทางกลับกัน  หากผู้ใหญ่ที่เด็กสนิทสนมด้วยในวัยนี้  ไม่ได้สร้างความผูกพันที่พอเหมาะพอดี  ไม่ได้เป็นสติและวุฒิภาวะให้เด็ก  เด็กเล่าอะไรแล้วผู้ใหญ่วิ่งตามจัดการให้จนเด็กเกิดการเรียนรู้ว่า   เมื่อเขาพูดอะไร  เขาจะได้รับผลที่เขาพึงพอใจเสมอ  เขาจะทำเช่นนั้นซ้ำอีก  จากเรื่องเล็กสู่เรื่องใหญ่  จนอาจเป็นไปได้ว่าการที่เด็กจะก้าวผ่าน  Preoperation  Thinking ไปสู่ Concrete Operations  ตามวัยที่เหมาะสมนั้น  เป็นไปได้ยากขึ้น  และอาจมีผลต่อช่วงวัยถัดๆไปได้อีก

 

เพราะพัฒนาการทางภาษาและการคิดเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน   เด็กจึงต้องมีภาษาแม่ที่แข็งแรง  เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาทักษะการคิด  การที่ผู้ใหญ่เข้าใจว่าเด็กแต่ละวัยมีความคิดเช่นไร  ย่อมจะทำให้เข้าใจพัฒนาการของเด็กมากขึ้น   


เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ตัวเล็ก  เด็กเข้าใจโลกและมองโลกแตกต่างจากผู้ใหญ่   พัฒนาการด้านการคิดยังไม่สมบูรณ์แบบ   เรื่องที่มีความหมายกับผู้ใหญ่อาจไม่สำคัญเลยสำหรับเด็ก  ในขณะที่เรื่องสำคัญของเด็กอาจไม่มีความหมายสำหรับผู้ใหญ่เลยก็ได้  ในบางครั้งจึงไม่จำเป็นต้องเอามุมมองของผู้ใหญ่ใส่ลงไปในเรื่องของเด็ก   เพราะ...โลกของเด็กกับผู้ใหญ่นั้นต่างกัน

 

                                                                                                                   

....................................................................................................................................................................................................................

เอกสารอ้างอิง

มัตสุดะ, มิชิโอะ    (2547).  สารานุกรมการเลี้ยงดูเด็ก. กรุงเทพฯ : หมอชาวบ้าน.

สป๊อก, เบนจามิน.  (2553).  คัมภีร์เลี้ยงลูก.  กรุเทพฯ : อมรินทร์พรินติ้ง.

Driscoll, Amy.  (2002).  Early Childhood Education.  USA : Pearsons.

Visitors: 22,057